ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสาวมะลิวัลย์ สาแก้ว
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
สังกัด โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2557
บทคัดย่อ
การพัฒนาชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สร้างขึ้นให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75
2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีค่าดัชนีประสิทธิผลมากกว่า 0.50 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2557 จำนวน 29 คน ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ซึ่งเป็นห้องเรียนที่มีนักเรียนแบบคละความสามารถ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร จำนวน 8 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 16 แผนการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยาก (p) ระหว่าง 0.36-0.74 และค่าอำนาจจำแนก ( r ) ระหว่าง 0.31-0.69 4) แบบสอบถามความ
พึงพอใจของนักเรียน จำนวน 16 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.8233
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร โดยใช้สูตร ttest (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 79.63/78.39 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.5622 คิดเป็นร้อยละ 56.22 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ใช้ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่
ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = 4.48 , S.D. = 0.54)