ชื่อเรื่อง รายงานกระบวนการสร้างแผนการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการสื่อสารทางคณิตศาสตร์
โดยประยุกต์ใช้การศึกษาชั้นเรียน
ผู้วิจัย นางวรินทร พรมขันธ์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนโนนหันวิทยายน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ปีที่ทำวิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนากระบวนการสร้างแผนการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการ สื่อสารทางคณิตศาสตร์ และ ศึกษาบทบาทของผู้ร่วมสร้างแผนการเรียนรู้ของครูผู้สอนกลุ่มสาระ การเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนโนนหันวิทยายน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น โดยมีรูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการวิจัย มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ระยะที่ 2 ระหว่างดำเนินการวิจัย มีการสำรวจความต้องการของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และมีการประยุกต์ใช้การศึกษาชั้นเรียน เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาหลักสูตรรายวิชา และสร้างแผนการเรียนรู้ ระยะที่ 3 หลังดำเนินการวิจัย มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน เมื่อสิ้นสุดกระบวนวิจัยในส่วนของการประยุกต์ใช้การศึกษาชั้นเรียนนั้นมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นกำหนดปัญหา ขั้นวางแผนบทเรียน ขั้นนำแผนการสอนไปใช้จริงในห้องเรียน ขั้นประเมินผลบทเรียนและสะท้อนผลบทเรียน และขั้นปรับปรุงบทเรียน ซึ่งทั้ง 5 ขั้นตอนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของระยะที่ 2 ของการวิจัย โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้วิจัย ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ จำนวน 4 คน ซึ่งแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นนั้น นำไปใช้สอนนักเรียนเตรียมความพร้อมเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนโนนหันวิทยายน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ปีการศึกษา 2560 จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบ บันทึกการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินผลหลังการเรียนรู้ และวีดีทัศน์ ซึ่งเครื่องมือต่างๆ นำไปใช้ในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินการวิจัย หลังจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลโดยการบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า
กระบวนการสร้างแผนการเรียนรู้ การใช้กระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนนั้น ส่งเสริมให้เกิดแผนการเรียนรู้ที่ดี สาเหตุที่ทำให้แผนการจัดการเรียนรู้ใช้ได้ผลดี เพราะการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมการวิจัย ทั้งหมดทุกคนในการวางแผนบทเรียนร่วมกัน ผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันในการ วางแผนว่าแผนการเรียนรู้ที่ต้องการนั้นไม่ได้เน้นเนื้อหาทางคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสในการสื่อสารกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน การแสดง ความคิดเห็น การนำเสนองาน และจากการที่ครูผู้สอนมีประสบการณ์แตกต่างกัน จึงทำให้มีมุมมอง ที่หลากหลาย ในการคิดกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นแผนการเรียนรู้ที่ได้กิจกรรมจึงมีความหลากหลาย นักเรียนชื่นชอบ และจากการที่ผู้วิจัยได้สังเกตการเรียนรู้ของนักเรียน การสัมภาษณ์นักเรียน การ สะท้อนคิดกับผู้เข้าร่วมการวิจัยและสะท้อนด้วยตัวเองโดยการดูจากวีดีทัศน์ พบว่านักเรียนให้ ความร่วมมือ ตั้งใจและสนุกสนาน เมื่อเข้าร่วมกิจกรรม เช่น กิจกรรม วางแผนจับจ่าย และ The present ซึ่งผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่า กิจกรรมทั้งสอง เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติในสถานที่จริง คือ วางแผนรายการซื้อของ และมีการซื้อของสถานที่จริง นักเรียนส่วนใหญ่ไม่เคยปฏิบัติ จึงทำให้ นักเรียนสนุก อีกทั้งกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ถกเถียง อภิปราย กันอย่างเต็มที่เกี่ยวกับสิ่งของ ราคาประมาณของสิ่งของ
สำหรับบทบาทของผู้ร่วมสร้างแผนการเรียนรู้ ในขั้นตอนของการนำแผนการเรียนรู้ไปใช้สอนจริง พบว่าการที่มีผู้ร่วมวิจัยไปร่วมกัน สังเกตการณ์ในชั้นเรียน จะทำให้ได้เห็นมุมมองในการถ่ายทอดแผนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เพราะรูปแบบ บุคลิก ของครูผู้สอนย่อมแตกต่างกันออกไป ครูสมาชิกในกลุ่มอาจมีการนำรูปแบบ บางอย่างไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ครั้งต่อไป และการที่มีผู้ร่วมสังเกตการณ์ในชั้นเรียนจะเหมือนกระจกสะท้อนช่วยให้ครูผู้สอนรู้ว่า เนื้อหาครบถ้วนหรือไม่ เป็นไปตามข้อตกลงตามที่ได้สร้างร่วมกันนั้นหรือไม่ ควรปรับปรุงบทเรียนด้านใดบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ได้รู้ว่า แผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมสร้างกันขึ้นมานั้นเมื่อนำไปสอนจริงแล้วส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะการ สื่อสารกันหรือไม่อย่างไร บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งขึ้นร่วมกันหรือไม่ ซึ่งแผนการเรียนรู้ที่ได้ สร้างขึ้นร่วมกันนั้น ส่วนใหญ่บรรลุตามวัตถุประสงค์การสื่อสารที่ได้ตั้งไว้
หลังจากเสร็จสิ้นการจัดการเรียนรู้ในแต่ละกิจกรรม ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ร่วมกันสะท้อน คิดถึงแผนการเรียนรู้ร่วมกันนั้น ทำให้มีข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแผนการเรียนรู้และ ใช้แผนการเรียนรู้ครั้งต่อไป ซึ่งในการวิจัยนี้พบว่าแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นส่วนใหญ่ บรรลุตามวัตถุประสงค์ด้านการสื่อสาร และสามารถส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร เช่น การพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น การนำเสนองานโดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ แต่ข้อมูลที่นำมาสะท้อนผลร่วมกันยังมีไม่มาก เพราะสมาชิกที่ร่วมกันสังเกตการณ์ในชั้นเรียนมีเพียง 1 หรือ 2 คน จึงทำให้มีประเด็นน้อย เมื่อนำมาสะท้อนคิดและปรับปรุงแผนการเรียนรู้
จากการสังเกตและสะท้อนด้วยตัวเอง โดยการดูจากวีดีทัศน์ของผู้วิจัยพบว่า ข้อดีของ กระบวนการประยุกต์ใช้การศึกษาชั้นเรียนในการสร้างแผนการเรียนรู้ คือการศึกษาชั้นเรียนเอื้อ ประโยชน์ให้ครูได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา ครูเห็นความต่อเนื่องในการพัฒนาแผนการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับขั้นตอนการศึกษาชั้นเรียน ของไมตรี อินทร์ ประสิทธิ์ (2547) เพราะหากครูมีการร่วมกันวางแผนร่วมกันตั้งแต่ต้นจะเป็นการพัฒนาความรู้ความ เข้าใจต่อการวางแผนการสอน และเมื่อมีการสังเกตการณ์ร่วมกันในชั้นเรียนและสะท้อนคิดร่วมกัน หลังจากเสร็จสิ้นจะทำให้ได้บทเรียนที่มีประสิทธิภาพ และในการประเมินผลและสะท้อนผลบทเรียนร่วมกัน ทำให้เห็นกระบวนการของการทำงานตามขั้นตอนต่างๆ เช่น ขั้นตอนการนำ แผนการเรียนรู้ที่ได้วางร่วมกันวางแผนไว้ไปสอนจริงในห้องเรียน การร่วมกันสังเกตการณ์ ผู้เรียน ว่านักเรียนเกิดทักษะการสื่อสารบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้หรือไม่ และวิธีการของครูที่ใช้ในการสอนมีความสอดคล้องเหมาะสมมากน้อยเพียงใด อย่างไร นอกจากนั้นในการประเมินผล และสะท้อนผลบทเรียนร่วมกัน ทำให้ฝึกให้เกิดการยอมรับ การรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปรับปรุงกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งข้อมูลที่นำมาปรับปรุงมาจากห้องเรียนจริง จะยิ่งส่งเสริมให้แผนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้น
จากข้อมูลจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการสร้างแผนการเรียนรู้ แม้ว่าทุกคนจะไม่ได้มีส่วนร่วมตลอดเวลา แต่แผนก็ยังมีความต่อเนื่อง เพราะมีการสื่อสารให้ข้อมูลกับครูผู้สอนที่ไม่ได้เข้าร่วม เพื่อติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และยังคงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ
จากกระบวนการสร้างแผนการเรียนรู้ที่มีการประยุกต์ใช้การศึกษาชั้นเรียนนั้น ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่าในทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาและบุคลากร เพื่อร่วมกันทำงานค่อนข้างมาก แต่จากการทำ วิจัยครั้งนี้พบว่า ความร่วมมือของผู้ร่วมวิจัยในการเข้าร่วมกระบวนการทั้งหมด อยู่ในระดับที่เพิ่ม มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าในการทำงานร่วมกันเกิดการเรียนรู้และเห็นผลผลิต ของกลุ่มที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ