ชื่อผู้ประเมิน : นายมอฮำหมาดมาดี หลงกาสา
ปีการศึกษา : 2559
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์นักเรียนแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านบูเกตยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ในปีการศึกษา 2559 ตามรูปแบบการประเมินซิปป์โมเดล (CIPP Model) 4 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมหรือบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ชุดโดยสอบถามจากประชากร ได้แก่ ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนทั้งสิ้น 100 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินปรากฏ ดังนี้
1. ผลการประเมินสภาพแวดล้อมหรือบริบท ผลการประเมินตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมพบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.60, σ = 0.42) และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับ คือ ศึกษาความต้องการและผลกระทบของชุมชนในการดำเนินโครงการ รองลงมา คือ ศึกษาบริบทชุมชนในการดำเนินโครงการ และอันดับที่ 3 คือ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนชื่นชม รู้คุณค่า ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ผลการประเมินโดยภาพรวม พบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก (μ = 4.32, σ = 0.39) และเมื่อพิจารณา เป็นรายข้อ พบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด 4 ข้อ โดยมีค่าเฉลี่ยตามลำดับ ดังนี้ มีแผนปฏิบัติการรองรับในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสภานักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความชัดเจนและเหมาะสม มีการกำหนดขั้นตอนในการทำงานเหมาะสมและชัดเจน และบุคลากรมีเจตคติที่ดีในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบกิจกรรมตามโครงการ
3. ผลการประเมินกระบวนการ ผลการประเมินตามความคิดเห็นของครูและ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวม พบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก (μ = 4.30, σ = 0.40) และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับ คือ การร่วมมือระหว่างองค์กรในชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์นักเรียน รองลงมา คือ การจัดทำโครงการได้ระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลาและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และอันดับที่ 3 คือ บุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการนิเทศ ติดตามและประเมินผลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน
4. ผลการประเมินผลผลิต
4.1 ผลการประเมินผลสำเร็จโครงการ ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวม พบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก (μ = 4.31, σ = 0.37) และเมื่อพิจารณา เป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับ คือ นักเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม รองลงมา คือ นักเรียนชื่นชมรู้คุณค่า ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นและอันดับที่ 3 คือ นักเรียนสามารถนำหลักปฏิบัติประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
4.2 การประเมินความพึงพอใจต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ผลการประเมิน ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน ทั้ง 4 ด้าน พบว่า ความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (μ = 4.33, σ = 0.29) และเมื่อพิจารณาผลการประเมินแต่ละด้าน พบว่า ความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน ซึ่งด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการตระหนักรู้คุณค่า ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม และด้านที่มีมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านการชื่นชมรู้คุณค่า ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ข้อเสนอแนะ
1. กิจกรรมต่างๆ ของโครงการ ต้องมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนและชี้แจงให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจตรงกัน
2. การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินงานทุกกิจกรรมเป็นกลยุทธ์ ที่ทำให้งานสำเร็จ ผู้บริหารและคณะกรรมการดำเนินงานจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในทุกครั้ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์
3. ในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ของนักเรียนนั้น ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรม ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนจึงต้องสร้างความตระหนักให้แก่ครูเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน
4. ผู้บริหารโรงเรียนควรมีการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพโดยการจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโรงเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศทางการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอและพัฒนาศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีของครูเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในโรงเรียน ภายในเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆ