การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงนโยบาย มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการดำเนินงาน
ระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ประกอบไปด้วย แบบสอบถามแบบเลือกตอบ และแบบวิเคราะห์เนื้อหาสำคัญ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ครูและบุคลากร โรงเรียนเมือง พัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) แหล่งข้อมูลทุติภูมิ ได้แก่ เอกสารรายงานผลการประเมิน ภายนอกรอบสาม เอกสารรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ตามระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา เอกสารรายงานวิจัยในชั้นเรียนและเอกสารรายงานผลประเมินโครงการ โดยการวิเคราะห์เนื้อหาสำคัญ สรุปเป็นความเรียงและหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (2) เพื่อศึกษาเหตุและปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการประชุมสนทนากลุ่มใช้แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรโรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) โดยการวิเคราะห์เนื้อหาสำคัญแล้วจัดทำเป็นผังก้างปลาและสรุปเป็นความเรียง และ (3) เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) เพื่อรองรับการประเมินภายนอกรอบสี่ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการประชุมระดมพลังสมอง ใช้แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรโรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) โดยการวิเคราะห์เนื้อหาสำคัญแล้วสรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพการดำเนินงานระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียน ปีการศึกษา 2558 โดยภาพรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดีเยี่ยม ครูมีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ในภาคเรียนที่ 2 มากกว่าภาคเรียนที่ 1 มีร้อยละความก้าวหน้าเท่ากับ 7 ครูมีการทำวิจัยในชั้นเรียน ร้อยละ 90.10 และ มีการประเมินผลการดำเนินงานโครงการตามแผนงานร้อยละ 100 ผลการเปรียบเทียบคุณภาพการดำเนินงานปีการศึกษา 2558 พบว่าทุกองค์ประกอบมีผลคะแนนของการดำเนินงานสูงกว่าปี 2557 ส่วนผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจต่อผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากต้นสังกัดในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. เหตุและปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน ได้แก่ 2.1) เหตุและปัจจัยที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบการประกันคุณภาพภายใน ด้านผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะผู้นำทางวิชาการ มีคุณวุฒิ และวัยวุฒิที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ครูปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ส่งเสริมให้ครูพัฒนาตนเอง ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ความสามารถตามภาระหน้าที่ และมีพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ด้านงบประมาณมีการจัดสรรงบประมาณตามแผนงานโครงการ ด้านวัสดุอุปกรณ์ มีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ด้านปัจจัยภายนอกได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ความร่วมมือจากคณะกรรมการสถานศึกษา ความร่วมมือของผู้ปกครอง หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและชุมชน ด้านการบริหารจัดการ การดำเนินงานเป็นไปตามแผน มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐาน 2.2) เหตุและปัจจัยที่ฉุดรั้ง ได้แก่ ขาดการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง ครู และบุคลากรทางการศึกษายังไม่เข้าใจในระบบการประกันคุณภาพไม่มีทักษะการจัดการสารสนเทศ ภาระงานของครูมากและความแตกต่างระหว่างบุคคล ด้านวัยวุฒิ ด้านความคิด และการทำงาน งบประมาณลดน้อยลงตามจำนวนนักเรียน ด้านวัสดุอุปกรณ์มีระบบการจัดเก็บที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ผู้ปกครองฐานะยากจน นโยบายการศึกษาเปลี่ยนแปลงบ่อยตามหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้สถานศึกษาต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล และขาดการประชาสัมพันธ์ให้แก่หน่วยงานภายนอก
3. ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนในปีการศึกษา 2559 -2560 มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ วิสัยทัศน์กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2560 โรงเรียนเมืองพัทยา 9 (วัดโพธิสัมพันธ์) มีระบบการประกันคุณภาพภายในระดับดีเยี่ยมและผลงานประเมินคุณภาพสถานศึกษา
ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ ที่ 1 พัฒนาครู
และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจในระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
ยุทธศาสตร์ ที่ 2 ส่งเสริมการบริหารจัดการและการนิเทศภายในเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ยุทธศาสตร์ ที่ 3 ส่งเสริมการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและยุทธศาสตร์ ที่ 4 เสริมสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา