ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้วิจัย นายพุฒิเมธ พวงจันทึก
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
สังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ด้านผลผลิต (Product Evaluation) ด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation)ด้านการถ่ายโยงความรู้ (Transportability Evaluation) โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPPIEST Model ผลการประเมินจะเป็นสารสนเทศสำหรับนำไปพัฒนาการดำเนินโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กลุ่มเป้าหมาย ในการวิจัยเชิงประเมินครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 845 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครู จำนวน 19 คน นักเรียนจำนวน 406 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 406 คน คณะกรรมการ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ประจำปีการศึกษา 2558 จำแนกเป็น กลุ่มผู้ให้ข้อมูลตอบแบบสอบถาม จำนวน 217 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ศึกษาจากกลุ่มเป้าหมาย ครู จำนวน 19 คน ศึกษาจากกลุ่มเป้าหมาย นักเรียน จำนวน 197 คน โดยผู้วิจัยได้กำหนดขนาดของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบสอบถามของนักเรียน จากการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) กลุ่มเป้าหมายผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ จำนวน 18 คน ซึ่งเลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน ครู ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 8 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้แทนศิษย์เก่า จำนวน 3 คน และผู้ปกครองนักเรียนซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียนหัวหน้าระดับชั้นๆละ 1 คน จำนวน 6 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยวิเคราะห์เนื้อหาความคิดเห็นในประเด็นคล้ายคลึงกันแล้วสรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัย
1. ด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมฯส่งเสริมให้นักเรียนได้ตะหนักถึงความสำคัญของ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมฯตอบสนองความต้องการของสังคมปัจจุบัน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความเข้าใจในหลักการและวิธีการดำเนินงานตามโครงการ และ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือคืองบประมาณในการดำเนินโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
3. ด้านกระบวนการ พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบพบว่า ความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกข้อ กิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การสำรวจสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการในการดำเนินโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ และการบูรณาการสู่การเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การวางกรอบการวัดและประเมินผลการดำเนินงาน
4. ด้านผลผลิต พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การประเมินผลหลังเสร็จสิ้นโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นสิ่งจำเป็น ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือนักเรียนมีความรอบคอบ ละเอียด ถี่ถ้วนในการปฏิบัติงาน
5. ด้านผลกระทบ พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีคุณลักษณะที่ชุมชนต้องการและภาคภูมิใจในตนเอง และ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โรงเรียนมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของชุมชน
6. ด้านประสิทธิผล พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีความกระตื้อรื้อร้นในการเข้าร่วมโครงการ และ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชน
7. ด้านความยั่งยืน พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นใหม่และใช้องค์ความรู้บูรณาการในชีวิตประจำวัน และ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนได้ขยายองค์ความรู้ที่ได้สู่เพื่อนนักเรียนสู่ชุมชนและส่งเสริมการเรียนในวิชาต่างๆ
8. ด้านการถ่ายโยงความรู้ พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือโรงเรียนมีการเผยแพร่สารสนเทศการดำเนินโครงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานอื่น