บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย การพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น
ชื่อผู้วิจัย นางอุมาพร หาญมานพ
ระยะเวลาในการวิจัย วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559
การวิจัยในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน กลุ่มสาระการ
เรียนรู้คณิตศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ค 23101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสนมวิทยาคาร อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 15 แผน และแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ จำนวน 15 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 20 ข้อ ซึ่งมีค่า ความยากง่าย ตั้งแต่ 0.43 ถึง 0.64 และค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.43 ถึง 0.64 และมีค่า ความเชื่อมั่นทั้งฉบับ 0.58 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐาน ใช้ t-test
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ -3 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ได้รับการพัฒนาและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
2. แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงส้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 86.44/85.14 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จึงสมควรนำไปใช้และเผยแพร่ได้
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้รายงานสร้างและพัฒนาขึ้น มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.7365 หมายถึง ผู้เรียนมีทักษะทางคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นหลังจากการทดลอง ร้อยละ 73.65 จากก่อนการทดลอง