ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4โรงเรียนเทศบาล 1 วัดแก่นเหล็ก (รัตนกะลัสอนุสรณ์)
ผู้จัดทำ : นางบุญนำ ทองเหลือ
หน่วยงาน : โรงเรียนเทศบาล 1 วัดแก่นเหล็ก (รัตนกะลัสอนุสรณ์) สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองเพชรบุรี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีการศึกษา : 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 1 วัดแก่นเหล็ก (รัตนกะลัสอนุสรณ์) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 23 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสารแบบประเมิน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแบบสอบถามความพึงพอใจการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย () ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า บีไอซีเอไอดี(BICAID Model) มีองค์ประกอบของรูปแบบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. หลักการ การจัดการเรียนรู้สังคมศึกษา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้รับความรู้ และคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน 2. วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน โดยผ่านการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น 3. กระบวนการเรียนการสอน ซึ่งมี 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 Basic Skill : B การพัฒนาทักษะพื้นฐานการคิดวิเคราะห์ ขั้นที่ 2 Informing : I การศึกษาความรู้จากบทเรียน ขั้นที่ 3 Critical Thinking : C การคิดวิเคราะห์วิจารณ์ ขั้นที่ 4
Awareness : A การตระหนักในเรื่องที่เรียนรู้ ขั้นที่ 5 Intention to Act : I การตั้งใจที่จะปฏิบัติ ขั้นที่ 6 Decision Making : D การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และ 4. เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ ได้แก่ ระบบสังคม (Social System) การเรียนรู้ตามรูปแบบต้องมีระบบสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนี้ 1) นักเรียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง และการเรียนรู้ของกลุ่ม 2) นักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน กล้าพูด กล้าเสนอความคิด กล้าที่จะซักถา 3) นักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนอย่างต่อเนื่องกล้าที่จะเสนอความคิด และกล้าที่จะซักถาม 4) นักเรียนต้องมีทักษะการตั้งคำถามตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบและกล้าที่จะตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ ระบบสนับสนุน (Support System) การจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบผู้สอนจะต้องจัดระบบสนับสนุนดังนี้ 1) ผู้สอนเป็นผู้จัดบรรยากาศการเรียนรู้ทั้งด้านกายภาพและจิตภาพในเชิงบวก 2)ผู้สอนจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์การเรียนรู้ให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน 3) ผู้สอนจัดบรรยากาศการเรียนให้อบอุ่น ผ่อนคลาย เป็นกันเอง และมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
4) ผู้สอนต้องกระตุ้นให้นักเรียนกล้าที่จะตั้งคำถามในการคิดวิเคราะห์ตามลักษณะการคิดตามสีของหมวก 5) ผู้สอนนำเสนอสาระการเรียนรู้หรือจัดหาสถานการณ์ซึ่งมีประเด็นและมุมมองหลากหลายและเหมาะสมกับวัยของนักเรียนเพียงพอกับการศึกษาค้นคว้า คิดวิเคราะห์และตัดสินใจ
หลักการตอบสนอง การจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบต้องคำนึงถึงการตอบสนองต่อนักเรียนในระหว่างการเรียนรู้ตามรูปแบบดังต่อไปนี้ 1) ผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนรู้ 2) ผู้สอนสนทนาซักถามเพื่อกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใช้คำถาม กระตุ้นการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิดหกใบ 3) ผู้สอนดูแล และติดตามให้นักเรียนเรียนรู้แบบร่วมมือกันเพื่อให้เกิดภาวะการร่วมคิดทั้งในกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่
2) ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบของนักเรียน พบว่า ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 โดยหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอน นักเรียนมีทักษะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบหลังการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนในระดับสูง มีพฤติกรรมการทำงานกลุ่มหลังการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ ในระดับดีมาก และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามทฤษฎีหมวกความคิด 6 ใบอยู่ในระดับมากที่สุด