บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการบริหารวิชาการโดยใช้กระบวนการนิเทศด้วยการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนของครู
และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผู้วิจัย : เกื้อกูล กุลชุมภู
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านช่องพลี องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่
ปีที่วิจัย : ปีการศึกษา 2559
วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้ คือ 1) เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลี 2) เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลี 3) เพื่อทดลองใช้แบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลี 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูที่มีต่อรูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลี ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือ ครูผู้สอนและนักเรียนโรงเรียนบ้านช่องพลี อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยครูจำนวน 38 คน และนักเรียนจำนวน 719 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ครูผู้สอนและนักเรียนโรงเรียนบ้านช่องพลี อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยครูจำนวน 16 คน และนักเรียนจำนวน 560 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เนื้อหา แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสังเกต แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบประเมิน และการสนทนากลุ่ม (Focus Group) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ( %) ค่าเฉลี่ย (x-) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D.) การทดสอบ ค่าที (t-test) แบบ Dependent และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1) ครูมีความต้องการในการพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยใน
ชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลี อยู่ในระดับมากที่สุด
2) รูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียน บ้านช่องพลี โดยมีการปฏิบัติ 5 ขั้นตอน เรียกว่า PIDRE ดังนี้ (1) การวางแผนการนิเทศ(Planning : P ) (2) การให้ความรู้ก่อนการนิเทศ (Information : I ) (3) การดำเนินการนิเทศ (Doing : D ) ประกอบด้วย การปฏิบัติงาน 2 ลักษณะ คือการปฏิบัติงานของผู้รับการนิเทศ (ครู) การปฏิบัติงานของผู้ให้การนิเทศ (ผู้บริหาร) โดยเข้าสังเกตการณ์สอนในชั้นเรียน มีการจดบันทึกพฤติกรรมการสอนอย่างย่อ ๆ (4) การสร้างเสริมกำลังใจในการนิเทศ (Reinforcing : R ) ขั้นตอนของการสริมแรงของผู้บริหาร ซึ่งให้ผู้รับการนิเทศมีความมั่นใจและบังเกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน มีการให้ข้อมูลย้อนกลับจากการสอน 5) ประเมินผลการนิเทศ(Evaluating : E )
3) ผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลี พบว่า ครูผู้รับการนิเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศแบบการนิเทศภายในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนบ้านช่องพลีก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังการใช้รูปแบบการนิเทศมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศ มีสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียน อยู่ในระดับสูงมากและนักเรียนมีผลการเรียนรู้ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศแบบการนิเทศภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียน บ้านช่องพลี แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังการใช้รูปแบบการนิเทศนักเรียนมีผลการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการใช้ รูปแบบการนิเทศ
4) ครูผู้รับการนิเทศมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียน ของครูโรงเรียนบ้านช่องพลีอยู่ในระดับมากที่สุด