บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ (2) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ในการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ (3) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค ในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ กำหนดขนาดที่ระดับความเชื่อมั่น 99 % คือ ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียในการบริหารโครงการโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ ประกอบด้วย พนักงานครูเทศบาล คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองเด็กระดับชั้นอนุบาล 1 3 จำนวน 315 คน โดยการใช้ตารางสำเร็จรูปของ เฮนเดล (เกียรติสุดา ศรีสุข 2552, หน้า 79) แล้วทำการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง โดยตารางเลขสุ่ม สำหรับพนักงานครูเทศบาลและคณะกรรมการสถานศึกษาใช้จำนวนเต็ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม เรื่อง การมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ มีดังนี้
1.1 การรับรู้โครงการกีฬาสีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
1.2 การรับรู้โครงการกาดหมั้วคัวงายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
1.3 การรับรู้โครงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
1.4 บุคคลกลุ่มใดควรรับผิดชอบโครงการ ตามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียเห็นว่าพนักงานครูเทศบาล ควรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการมากที่สุด
1.5 โครงการควรสอดคล้องกับ นโยบายของสถานศึกษา ความพร้อมของโรงเรียน และพัฒนาการของเด็ก
1.6 บุคคลที่ควรร่วมกันดำเนินการโครงการ ได้แก่ พนักงานครูเทศบาลและบุคลากรของโรงเรียน ผู้ปกครองทั้งหมด และเด็ก
1.7 วิธีการประเมินผลโครงการ ได้แก่ การประเมินความพึงพอใจ การสังเกต และการประชุมสัมมนา
2. ระดับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะโดยรวมอยู่ในระดับมาก
2.1 ระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวมอยู่ในระดับมาก
2.2 ระดับการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวมอยู่ในระดับมาก
2.3 ระดับการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยรวมอยู่ในระดับมาก
2.4 ระดับการมีส่วนร่วมในการประเมินผลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3. ปัญหาและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ มีดังนี้
3.1 การขาดการติดต่อประสานงานข้อมูลกับโรงเรียน เนื่องจากการสื่อสารผ่านเด็กได้ไม่ทั่วถึง
3.2 พื้นที่ในการดำเนินการโครงการกีฬาสีค่อนข้างคับแคบ ทำให้การเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมโครงการกีฬาสีไม่สะดวก มีความรู้สึกแออัด
3.3 พื้นที่ในการดำเนินการโครงการซึ่งจัดเป็นเต็นท์สำหรับให้เด็กทำกิจกรรมคับแคบ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก
3.4 การไม่ตรงเวลา จากการเข้าไปมีส่วนร่วมการบริหารโครงการกาดหมั้ว คัวงายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มักประสบปัญหาไม่ตรงต่อเวลาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3.5 การขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงและไมโครโฟน
3.6 ลำดับพิธีการที่ยาวนานเกินไป มีผลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย