บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนนานาชาติ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช
สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ชื่อผู้ประเมิน : นายไตรวัฒน์ ตรีสัตยพันธุ์
โรงเรียน : โรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ปีที่ประเมิน : 2557
การประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการ (Context) 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input) 3) เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการ (Process) 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ (Product) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้นิเทศ ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ปีการศึกษา 2557
รวมทั้งสิ้น 48 คน จำแนกเป็น ผู้บริหาร 1 คน ครูผู้นิเทศ 12 คน ครูผู้สอน 22 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผู้ประเมินสร้างขึ้นจำนวน 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามสำหรับผู้บริหาร ครูที่เป็นผู้นิเทศ ครูผู้สอนที่รับการนิเทศ และคณะกรรมการสถานศึกษา สำหรับใช้ประเมินด้านบริบท (Context) จำนวน 16 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .884 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามสำหรับครูผู้นิเทศและครูผู้สอนที่รับการนิเทศ ใช้ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) จำนวน 14 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .930 ฉบับที่ 3 แบบสอบถามสำหรับครูที่เป็นผู้นิเทศและครูผู้สอนที่รับการนิเทศ ใช้ประเมินด้านกระบวนการ (Process) จำนวน 30 ข้อ
มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .963 ฉบับที่ 4 แบบสอบถามสำหรับครูที่เป็นผู้นิเทศ ใช้ประเมิน
ผลผลิตของโครงการ (Process) จำนวน 23 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .973 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. ด้านบริบทของโครงการ (Context) โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้อมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้บริหารและครูเห็นความสำคัญของการนิเทศภายในโรงเรียน รองลงมา คือ โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาครู และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ โครงการสามารถช่วยให้ครูมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input) โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้อมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ คณะกรรมการนิเทศมีความพร้อมในการนิเทศภายในโรงเรียน รองลงมา คือ ผู้นิเทศและครูผู้สอนเข้าใจสภาพปัญหาและความจำเป็นของโรงเรียนที่ต้องมีการนิเทศภายในโรงเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีเอกสารคู่มือสำหรับใช้ศึกษาเกี่ยวกับการนิเทศภายในโรงเรียน
3. ด้านกระบวนการของโครงการ (Process) โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีการสังเกตการสอนในห้องเรียนและวิเคราะห์พฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ โรงเรียนจัดสนทนาทางวิชาการทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่น่าสนใจ อยู่ในระดับมากที่สุด และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด โรงเรียนส่งครูเข้ารับการอบรมหรือร่วมกิจกรรมวิชาการต่าง ๆ
ที่หน่วยงานอื่น ๆ นอกเหนือจากที่โรงเรียนจัด อยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิตของโครงการ (Product) โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ครูเลือกใช้กิจกรรมการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนทั้งรายบุคคลหรือรายกลุ่ม อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ครูใช้สื่อ เครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบการสอนทำให้เกิดความน่าสนใจในการเรียนการสอน อยู่ในระดับมาก และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ครูให้นักเรียนได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนเป็นระยะ ๆ อยู่ในระดับมาก