ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม
ชื่อผู้ประเมิน นายเสกสรรค์ ยุภาศ
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
โรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28
ปีที่ทำการประเมิน ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม การประเมินนี้ใช้รูปแบบจำลอง CIPPI (Context-Input-Process-Product-Impact: CIPPI model) ซึ่งพัฒนาโดยวิโรจน์ สารรัตนะ (2554) ใน 5 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิตและด้านผลกระทบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม ในปีการศึกษา 2559
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบสอบถามเกี่ยวกับบริบทของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการ กระบวนการของโครงการ ผลผลิตของโครงการ ผลกระทบของโครงการ ซึ่งแบบสอบถามทั้งหมด เป็นข้อคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักเรียนก่อนและหลังการดำเนินโครงการ เป็นลักษณะเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( ) การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการทดสอบค่าที (t test for dependent sample)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ด้านบริบท มีวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับบริบททุกรายการ อยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ปัจจัยนำเข้าของโครงการมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาปัจจัยนำเข้าของกิจกรรมต่าง ๆ พบว่า ทุกกิจกรรม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
3. ด้านกระบวนการ กระบวนการของการประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละกิจกรรม พบว่า ทุกกิจกรรมมีความเหมาะสมของกระบวนการ อยู่ในระดับมากทุกกิจกรรม
4. ด้านผลผลิต
4.1 ด้านคุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียน พบว่า ผลผลิตด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละกิจกรรมพบว่าทุกกิจกรรมอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน
4.2 ด้านความพึงพอใจต่อโครงการ พบว่า ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาความพึงพอใจของแต่ละกลุ่มตามสถานภาพ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน มีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมาก
4.3 ด้านความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ ได้คะแนนทดสอบหลังเข้าร่วมโครงการสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ และคะแนนก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. ด้านผลกระทบ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการของแต่ละกลุ่มตามสถานภาพ พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน มีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก