กิตติยา ทองหยัด. (2559). การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้าง
คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนบ้านบางรักษ์
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนโรงเรียน บ้านบางรักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการความจำเป็น ความสอดคล้อง และความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ ความพร้อมของอาคารสถานที่ ความเพียงพอของงบประมาณ และความเหมาะสมของปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินงาน ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการวางแผน การมีส่วนร่วมในการพัฒนา การมีส่วนร่วมในการใช้ แหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ครู และการนิเทศ ติดตามโครงการ และประเมินผลผลิตของโครงการ เกี่ยวกับปริมาณของแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนา ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อจัดการเรียนการสอนของครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ จำนวน 205 คน ประกอบด้วย นักเรียนจำนวน 129 ครู จำนวน 9 คน และผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 67 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 7 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .82 ฉบับที่ 2 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .89 ฉบับที่ 3 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .89 ฉบับที่ 4 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .92 ฉบับที่ 5 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง.80 ฉบับที่ 6 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .94 และฉบับที่ 7 มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง .89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ผลผลิต ปัจจัยนำเข้า บริบท และกระบวนการ ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท พบว่าโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมินเรียงตามลำดับมากไปหาน้อย คือ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ และความต้องการจำเป็นของโครงการ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นตัวชี้วัดพบว่าทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน คือความพร้อมของผู้รับผิดชอบโครงการ ความพร้อมของอาคารสถานที่จัดกิจกรรม ความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงาน ส่วนความเพียงพอของงบประมาณมีเพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 100
3. ผลการประเมินกระบวนการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การมีส่วนร่วมของนักเรียนเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน การนิเทศ ติดตามโครงการ
และการมีส่วนร่วมของครูเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินงานการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
4. ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ปริมาณของแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนา คิดเป็นร้อยละ 98.30 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียนอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน ครูมีทักษะการสอนโดยใช้แหล่งเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด ที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 72.04 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดย่อยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน และความพึงพอใจของครู
ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เป็นภารกิจหลักที่สถานศึกษาต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ จากผลการประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนบ้านบางรักษ์ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน จึงควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพผลยิ่งขึ้น ดังนี้
1. เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนรวมในการพัฒนาเป็นการตอบสนองความต้องการจำเป็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนอย่างแท้จริง
2. ควรสนับสนุนให้มีการประสานการปฏิบัติงานระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการ ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินการคล่องตัวและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ