ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน
โรงเรียนดงมูลวิทยาคม
ผู้วิจัย จิตรกร โคตะวินนท์
ปีที่ทำวิจัย ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนดงมูลวิทยาคม 2) พัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนดงมูลวิทยาคม 3) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนดงมูลวิทยาคม และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของครู ต่อการนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนโรงเรียนดงมูลวิทยาคม
การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนดงมูลวิทยาคมจำนวน 27 คน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ประชากรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอน โรงเรียนดงมูลวิทยาคมจำนวน 27 คน ระยะที่ 3 ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนและศึกษาความพึงพอใจของครูต่อการนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ประชากรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 27 คน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนที่เรียน ปีการศึกษา 2559 จำนวน 534 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นต่อสภาพปัจจุบันและความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน แบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ของครูและนักเรียน แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์และแบบประเมินความพึงพอใจของครูต่อ การนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัย พบดังนี้
ระยะที่ 1 สภาพการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางและความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ระยะที่ 2 รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน มุ่งพัฒนาครู 3 ด้าน คือ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ การฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ให้แก่ครูผู้สอนและการสอนคิดวิเคราะห์ โดยมีขั้นตอนการพัฒนา 6 ขั้น คือ การเตรียมความพร้อม การเสนอสถานการณ์ปัญหา การฝึกการคิดเป็นรายบุคคล การฝึกการคิดเป็นกลุ่มย่อย การนำเสนอหรืออภิปรายผลการคิดและการประเมินกระบวนการคิด
ระยะที่ 3 ประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนและความพึงพอใจของครูต่อการนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ปรากฏผล ดังนี้
1) ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามรูปแบบดังกล่าวมีคะแนนเฉลี่ยการคิดวิเคราะห์สูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2) ครูผู้เข้ารับการอบรมตามรูปแบบดังกล่าวสามารถจัดทำแผนการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ได้ในระดับคุณภาพดีมาก จำนวน 16 คน และระดับดี จำนวน 11 คน
3) ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความพึงพอใจต่อการนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
4) นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยด้านการคิดวิเคราะห์สูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01