บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร (2) สร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร (3) ทดลองใช้รูปแบบ การเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร (4) ประเมินรูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวนนักเรียน 76 คน ได้มาโดยการเปิดตารางของเครซซี่และมอร์แกน กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ
ด้านการจัดการศึกษาหรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และศึกษานิเทศก์ จำนวน 38 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง และกลุ่มที่ 3 ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินความเป็นไปได้และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เนื้อหา และทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนและหลังการเรียนด้วย t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษารูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร พบว่า จากการศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ พบว่า องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือมี 5 ประการ ดังนี้ (1) การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน (2) การปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด (3) ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน (4) การใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย และ (5) การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม (Group Processing)
ส่วนสภาพปัจจุบันและปัญหาในการเรียนรู้แบบร่วมมือ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านกระบวนการเรียนรู้ กับด้านครู
ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านผู้เรียน
2. ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) แนวคิดพื้นฐาน 2) หลักการ 3) จุดมุ่งหมาย 4) เนื้อหา 5) กิจกรรม การเรียนรู้ ประกอบด้วย บทบาทผู้เรียน ขั้นตอนการเรียนตามเทคนิค 5P มี 5 ขั้นตอน ได้แก่ Plan (P1) การวางแผนในเนื้อหาการเรียนรู้ Produce (P2) การสร้างแนวทางในการเรียนรู้ร่วมกัน Process (P3) กระบวนการเรียนรู้ Practice (P4) การให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติกิจกรรมภายในกลุ่มและ Product (P5) การนำผลที่ได้จากการปฏิบัติกิจกรรมภายในกลุ่ม และบทบาทครูผู้สอน 6) การวัดและประเมินผล
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินรูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร พบว่า รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค 5P มีความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก