ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมตามแนววิถีพุทธ
ของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองอาสา
ผู้วิจัย นายศราวุฒิ จำรัสภูมิ
ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่ดำเนินการ ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
โรงเรียนบ้านหนองอาสาได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมตามแนววิถีพุทธของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองอาสาขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและส่วนรวม การดำเนินโครงการมีองค์ประกอบและปัจจัยหลายประการที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ เช่น ความพร้อมของผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียน ชุมชน ความพร้อมด้านการบริหารจัดการสถานที่และงบประมาณ การที่จะทราบว่าผลการดำเนินงานโครงการเกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด มีความพร้อมหรือขาดความพร้อมเรื่องใด ควรปรับปรุงแก้ไขสิ่งใด แผนงานใดที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวจำเป็นต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานโครงการ ซึ่งการประเมินโครงการมีหลายรูปแบบ ผู้วิจัยเลือกใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) ของสตัพเฟิลบีม (Daniel L. Stuffelbeam) โดยมีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อประเมินด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) การประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) 2) การประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input Evaluation) 3) การประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) 4) การประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ (Product Evaluation) เก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลประกอบด้วย 1) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ศึกษาจากประชากรทั้งหมด 2) ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ศึกษาจากประชากรทั้งหมด 3) ครู จำนวน 6 คน ศึกษาจากประชากรทั้งหมด 4) นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองอาสา ปีการศึกษา 2559 จำนวน 48 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) 5) ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองอาสา ปีการศึกษา 2559 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling)
เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ดังนี้ 1) แบบประเมินบริบทของโครงการ 2) แบบประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ 3) แบบประเมินกระบวนการของโครงการ 4) แบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ 5) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ค่าความเชื่อมั่น(Reliability) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
ผลการวิจัย
1. การประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation) พบว่า โครงการมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากคณะทำงานตามโครงการมีการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน ตามกรอบนโยบายของโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2 สามารถกำหนดแผนการดำเนินงานและผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้โครงการสำเร็จไปตามเป้าหมายของโครงการ
2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input Evaluation) พบว่า ความเหมาะสม /ความเพียงพออยู่ในระดับมาก เนื่องจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารและคณะครู มีความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานตามโครงการ ประสานงานจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดกิจกรรมจากทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน
3. การประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) พบว่า กระบวนการดำเนินงาน มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เนื่องจากโครงการมีการกำหนดแผนการดำเนินการงานเป็นขั้นตอนเป็นระบบ มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโดยผู้บริหารโรงเรียนอย่างเข้มแข็ง มีการประสานงานกับผู้ปกครอง ชุนชน องค์กรภายนอกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้รับการปรับปรุงแก้ไขทันท่วงทีและการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการ จะช่วยให้ผู้รับผิดชอบโครงการได้สารสนเทศสำหรับใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ ส่งผลให้โครงการสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ (Product Evaluation) พบว่า ระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ทั้ง 8 ด้านอยู่ในระดับมาก เนื่องจากกิจกรรมตามโครงการเป็นการบูรณาการหลักการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาในการจัดการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียน ทั้งนี้เนื่องจากผลของการพัฒนาทางศีลการฝึกการทำสมาธิและปัญญา ทำให้นักเรียนมีการปฏิบัติตนตามกรอบวินัยของโรงเรียน ชุมชน และสังคม
5. ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครูและบุคลากร ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนต่อโครงการอยู่ในระดับมาก โรงเรียนและชุมชนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการที่ส่งผลให้ปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักเรียนลดลง นักเรียนมีระเบียบวินัย ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมอย่างสม่ำเสมอทำให้นักเรียนคุ้นเคยกับการจัดกิจกรรมมากขึ้นมีการปฏิบัติตนโดยมีแบบอย่างที่ดี ครูและผู้ปกครองคอยดูแลอย่างใกล้ชิด