ประชากร/ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนที่2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 18 คน
เครื่องมือวิจัย คือ แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน
การเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการดังนี้
1) ชี้แจงทำความเข้าใจนักเรียนถึงอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือการเป็นโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่9 โดยให้ทุกคนหลอมรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวคือความพอเพียง
2) อธิบายกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน และการผลิตข้าวอินทรีย์วิถีพอเพียงและการรวมกลุ่มเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional learning Community : PLC) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการร่วมคิดร่วมทำ สะท้อนความคิดก่อนและหลังการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงพัฒนางานให้มีความต่อเนื่องมีคุณภาพและเกิดการเรียนรู้ยิ่งขึ้น
3) วางแผนการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การผลิตข้าวอินทรีย์พันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน และการสอดแทรกหลักอริยสัจสี่
4) ทดสอบความรู้นักเรียนก่อนเรียน ทดสอบความรู้นักเรียนหลังการเรียน เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน
5) รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และรายงานผลการวิจัย
สถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ พบว่าโดยภาพรวมมีการพัฒนาและดำเนินกิจกรรมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในระดับดีมาก โดยมีกิจกรรมปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อในระดับดีมาก มีกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับดีมาก นักเรียนมีความรู้ความเข้าในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับดี นักเรียนมีการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักความพอเพียงในระดับดีมาก
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการเรียนรู้แบบโครงงานของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความรู้อยู่ในระดับมาก ผลการประเมินทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียน พบว่านักเรียนมีทักษะการปฏิบัติงานเกษตรอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่ในระดับดีมาก
3. ผลการผลิตข้าวอินทรีย์พันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ พบว่า ความสูงของต้นข้าว เฉลี่ย เท่ากับ 67.28 ซ.ม. จำนวนหน่อต่อกอ เฉลี่ย เท่ากับ 14.90 ต้น จำนวนรวงต่อกอ เฉลี่ย เท่ากับ 13.28 รวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง เท่ากับ 90.17 น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือกต่อกอ เฉลี่ย เท่ากับ 153.82 กรัม และ น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือกต่อไร่ (ก.ก.) เท่ากับ 540.70 กิโลกรัม
4. ผลการสะท้อนคิดของนักเรียนเรื่องการนำแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยภาพรวม พบว่า เป็นแนวคิดแนวปฏิบัติที่ดีมีประโยชน์ในระดับมากที่สุด เพราะนักเรียนได้มีการพัฒนาตัวเองจากการร่วมกิจกรรมกลุ่ม ได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ได้ฝึกทำงานกลุ่ม ฝึกวินัยในการรับฟังอย่างสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ได้ฝึกความอดทน ความสามัคคี การมีน้ำใจ การให้เกียรติเพื่อนขณะที่เพื่อนสะท้อนความคิดเห็น และนักเรียนระบุว่าได้ร่วมกิจกรรมปลูกข้าวอินทรีย์วิถีพอเพียงด้วยความสนุกสนานและมีความสุข
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การผลิตข้าวอินทรีย์วิถีพอเพียง โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐานการเรียนรู้ ที่สอดแทรกหลักอริยสัจสี่ กรณีศึกษานักเรียนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด