ชื่อเรื่อง รายงานการสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้รายงาน นางสาวเนตรชนก สารทอง
หน่วยงาน โรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา ตำบลบ้านแก้ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
จุดประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลการเรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559โรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 22 จำนวน 8 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 269 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม จำนวน 39 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้คือ 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 10 ชุด
2) แผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน รหัสวิชา ส33101 เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 15 แผน แผนละ 1-2 ชั่วโมง รวม 21 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 จำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.81/86.15 ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน รหัสวิชา ส33101 เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ มีค่าเท่ากับ 0.81 ซึ่งหมายถึงว่า ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ ร้อยละ 81
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ 10 ชุด มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 8.00 คะแนน คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 25.84 คิดเป็นร้อยละ 86.15 ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.63 ซึ่งอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.54 ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีความคิดเห็นสอดคล้องกันค่อนข้างสูง
คำนิยม
การเรียนรู้นั้นเป็นการพัฒนาผู้เรียน ครูผู้สอนเป็นผู้จัดประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ สร้างสื่อ นวัตกรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กและสัมพันธ์กับลักษณะเนื้อหาวิชา ความสนใจ สอดคล้องกับธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เป็นจริงในสังคมเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความรู้ อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน รหัสวิชา ส33101 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่นางสาวเนตรชนก สารทอง ได้สร้างและทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา ในครั้งนี้เป็นวิธีการพัฒนาการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ที่เชื่อได้ว่าจะส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ที่เน้นโดยหลักการเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ฝึกให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสามารถนำนักเรียนไปใช้ประโยชน์ ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งนางสาวเนตรชนก สารทอง ได้มุ่งมั่นพัฒนามาโดยลำดับ ข้าพเจ้าได้ตรวจประเมิน ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและปรับปรุงแก้ไขร่วมกันกับผู้ศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด
จึงเชื่อมั่นได้ว่านวัตกรรมที่นางสาวเนตรชนก สารทอง สร้างขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และขอชมเชยในความตั้งใจในการพัฒนางาน พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป
(นายสุวรรณ ตรีขัน)
ผู้อำนวยการโรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา
กิตติกรรมประกาศ
รายงานการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ เรื่อง เครื่องมือ สารสนเทศ และปฏิสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน ส33101 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ฉบับนี้ สำเร็จลุล่วงด้วยดีโดยได้รับความกรุณาและการอนุเคราะห์อย่างดียิ่งของผู้มีพระคุณหลายท่าน
ขอขอบพระคุณเจ้าของตำรา เอกสาร งานวิจัย บทความและหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ
ที่ผู้ศึกษาได้นำมาศึกษา จนทำให้รายงานฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยดี
ขอขอบคุณนายสุวรรณ ตรีขัน ผู้อำนวยการโรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา ดร.มาลินี กลางประพันธ์ นางอภัญญา หารสูงเนิน นางผกามาศ ช่างถม นางรัตนา คำเพชรดี และนางอุทัยวรรณ ฤทธิธาดา ผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความรู้ให้คำปรึกษา ชี้แนะ และตรวจประเมินเครื่องมือในการจัดทำรายงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณคณะครูโรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่ให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือด้วยดีตลอดเวลาที่จัดทำผลงาน
ขอขอบใจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2558 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา ทุกคนที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการจัดทำผลงาน
คุณค่าและความดีอันพึงมีจากการจัดทำในครั้งนี้ ขอมอบเป็นเครื่องบูชา บิดา มารดา บูรพาจารย์ ญาติมิตรทุกท่าน ที่ให้ชีวิต ให้ความรู้และเป็นกำลังใจ ให้ผู้รายงานได้พัฒนางาน
การเรียนการสอนให้ก่อเกิดประโยชน์แก่การจัดการศึกษาสืบไป
เนตรชนก สารทอง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ชำนาญการ