ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย พิพัฒน์พงศ์ อุตสาหะ
โรงเรียน โรงเรียนกระเทียมวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33
ปีที่พิมพ์ 2559
บทคัดย่อ
ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์โดยมีความมุ่งหมายคือ (1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80 / 80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2โดยใช้ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ (3) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์และ (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการการเรียนรู้ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์โดยใช้ ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนกระเทียมวิทยา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 37 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการ ได้แก่ (1) ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์จำนวน 8 ชุด (2) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ จำนวน 8 แผน (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยาก .23 - .78 ค่าอำนาจจำแนก .24 - .87 และมีค่าความเชื่อมั่น .86 และ (4) แบบประเมินความ พึงพอใจต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า ( Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 25 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดัชนีประสิทธิผล และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t test (Dependent Samples) ผลการวิจัย พบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.54/85.74 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่องระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ พบว่านักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ ด้วยชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ มีค่าเท่ากับ 0.7887 แสดงว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.87
4. จากการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีค่าโดยเฉลี่ยโดยรวม 4.45 แสดงว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมาก
สรุปได้ว่า ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เป็นอย่างดี ซึ่งครู นักการศึกษา หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้