การประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว
ผู้ประเมิน : นายสุริยา สนูบุตร
การประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการ ประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ ประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการ และประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับนิสัยรักการอ่านของนักเรียน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินโครงการ การประเมินใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ จำนวน 156 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา จำนวน 10 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยวิธีการจับฉลาก คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ครูจำนวน 11 คน ซึ่งได้มากจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) นักเรียน จำนวน 70 คน ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายด้วยวิธีการจับฉลากจากรายชื่อนักเรียนทั้งหมด และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 58 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจงจากผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สรุปผลการประเมินโครงการ และข้อเสนอแนะได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูลโดยภาพรวมทุกด้าน มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาผลการประเมินโครงการในแต่ละด้าน พบว่า ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ ด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เช่นกัน โดยด้านสภาพแวดล้อมของโครงการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ด้านกระบวนการดำเนินงาน ด้านปัจจัยเบื้องต้น และ ด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการ ตามลำดับ ส่วนด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับนิสัยรักการอ่านของนักเรียน พบว่า มีผลการประเมินโครงการผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้เช่นกัน คือ นักเรียนมีการปฏิบัติเป็นประจำ คิดเป็นร้อยละ 73.56
เพื่อพิจารณาผลการประเมินโครงการในแต่ละด้าน สรุปได้ ดังนี้
1.1 ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ด้านสภาวะแวดล้อม (Contexts) ของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมโครงการมีความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้อง อยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์ การประเมินที่กำหนดไว้ และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแต่ละประเด็นการประเมิน พบว่า
1.1.1 ผลการประเมินด้านสภาพวะแวดล้อมของโครงการส่งเสริมการอ่านโรงเรียนบ้านหาดทรายยาว เกี่ยวกับประเด็น ความต้องการจำเป็นของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมมีความต้องการจำเป็นอยู่ในระดับมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน พบว่า ผลการประเมินโดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด การประเมิน พบว่า มีความต้องการจำเป็นอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุดทุกตัวชี้วัด และผล การประเมินรายตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ทุกตัวชี้วัด
1.1.2 ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว เกี่ยวกับความเหมาะสมและความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการโดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และผลการประเมินรายตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ทุกตัวชี้วัด โดย หลักการและเหตุผลระบุสภาพปัจจุบัน ปัญหาชัดเจน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ วัตถุประสงค์สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
1.2 ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Inputs) พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดเช่นกัน โดยคู่มือการดำเนินงานโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ครูที่รับผิดชอบการจัดกิจกรรมโครงการมีความรู้ในกระบวนการจัดกิจกรรมโครงการ และ ครูมีความถนัดตรงกับกิจกรรมโครงการที่ได้รับมอบหมาย ,งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการ ตามลำดับ
1.3 ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Processes) โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัดการประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดย กระบวนการดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ มีการวางแผนงานโครงการอย่างเป็นระบบ และมี การตรวจสอบ ทบทวน คุณภาพการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอตามลำดับ
1.4 ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ด้านผลผลิตของโครงการ (Products) พบว่า
1.4.1 ผลการประเมินนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง พบว่า โดยภาพรวม ผู้ปกครองนักเรียนมีความคิดเห็นต่อการมีนิสัยรักการอ่านของนักเรียนที่ปฏิบัติเป็นประจำ ร้อยละ 73.56 และที่ปฏิบัติเป็นบางครั้ง คิดเป็นร้อยละ 26.44 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินนิสัยรักการอ่านของนักเรียนที่กำหนดไว้ คือ มีการปฏิบัติเป็นประจำร้อยละ 70 ขึ้นไป เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัดการประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดเช่นกัน โดย นักเรียนชอบให้ผู้ปกครองซื้อหนังสือให้อ่าน มีจำนวนสูงสุด คือ45 คิดเป็นร้อยละ 77.59 รองลงมาคือ นักเรียนชอบเล่าเรื่องจากหนังสือที่อ่านให้สมาชิกในบ้านฟัง มีจำนวนสูงสุด เท่ากับ 44 คิดเป็นร้อยละ 75.86 และ นักเรียนมักพูดว่าหนังสือมีประโยชน์หรือแนะนำให้สมาชิกในบ้านอ่านหนังสือ นักเรียนจะอ่านหนังสือโดยไม่ให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองตักเตือน นักเรียนมักจะยืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่านที่บ้าน มีจำนวนเท่ากับ 43 คิดเป็นร้อยละ 74.14
1.4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียน และ ผู้ปกครอง พบว่า โดยภาพรวม มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาแต่ละตัวชี้วัดการประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการทุกตัวชี้วัดเช่นกัน โดย การจัดกิจกรรมนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ กิจกรรมส่งเสริมนักเรียนให้มีทักษะการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น และ การจัดกิจกรรมทำให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
จากผลการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ผู้ประเมินโครงการมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะสำหรับนำผลการประเมินไปใช้
1.1 ผลการประเมินโครงการ พบว่า ด้านสภาพวะแวดล้อมของโครงการ (Contexts) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ และความเหมาะสม ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำโครงการส่งเสริมการอ่านให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณต่อไปเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อสนองนโยบายของโรงเรียน และของหน่วยงานต้นสังกัดคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูลและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป
1.2 ผลการประเมินโครงการ พบว่า ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Inputs) ที่สนับสนุนให้โครงการประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มีความเพียงพอในระดับมาก แต่ยังมีบางปัจจัยมีความเพียงพอในอยู่ในระดับมากแต่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ของโครงการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนมีคุณภาพน้อยลงตามสัดส่วนของปัจจัยสนับสนุนได้ ดังนั้นประเด็นที่ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารโรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ควรคำนึงเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเพิ่มปัจจัยเบื้องต้นให้เพียงพอสำหรับการสนับสนุนโครงการก่อนดำเนินงานโครงการคือ ควรเพิ่มวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการ ให้มีความเพียงพอเพิ่มขึ้นต่อไป
1.3 ผลการประเมินโครงการ พบว่า โดยภาพรวมด้านกระบวนการดำเนินงาน โครงการ(Processes) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ดังนั้น ประเด็นที่ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารโรงเรียนควรคำนึงเป็นพิเศษเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้นคือ การนิเทศการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบทบทวนคุณภาพการดำเนินงานระหว่างการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และควรนำผลการการตรวจสอบทบทวนคุณภาพไปนิเทศเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน โครงการเพื่อให้ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
1.4 ผลการประเมินโครงการ ด้านผลผลิต (Outputs) พบว่า ผลการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้ซึ่งผลผลิตมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ทั้งนิสัยรักการอ่านของนักเรียน คือ นักเรียนมีการปฏิบัติเป็นประจำคิดเป็นร้อยละ 73.56 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการที่กำหนดไว้ และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินโครงการ โดยภาพรวมทุกตัวชี้วัดมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมโครงการทั้ง 16 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีครั้งต่อไปควรเพิ่มจำนวนกิจกรรมและความหลากหลายในรูปแบบของการจัดกิจกรรม ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มขึ้น
1.5 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ตามความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียน ครู นักเรียน โดยภาพรวม พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนควรบรรจุกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจกรรม โดยเน้นกิจกรรมที่ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าที่บ้านของนักเรียนเอง อาทิ กิจกรรมอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟังก่อนนอน กิจกรรมอ่านทบทวนบทเรียนประจำวันให้ผู้ปกครองฟัง เป็นต้น
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินโครงการครั้งต่อไป
2.1 การประเมินครั้งต่อไปควรเพิ่มประเด็นการประเมิน โดยการตรวจสอบความเป็นไปได้ของกิจกรรมว่ากิจกรรมใดส่งผลต่อการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของนักเรียนอยู่ในระดับใด เพื่อคัดเลือกการปรับปรุงหรือขยายขอบเขตของกิจกรรมให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไป
2.2 การประเมินโครงการครั้งต่อไปควรเพิ่มประเด็นในการประเมิน คือ การประเมินความคุ้มค่าของการจัดทำโครงการโดยเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และผลผลิตที่ได้รับจากการดำเนินงานโครงการ
2.3 จากการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว พบว่า สามารถจัดทำได้ในทุกโรงเรียน ทุกระดับเพียงแต่ควรมีการปรับปรุงกิจกรรมการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมกับระดับการศึกษา บริบทของสถานศึกษา ความพร้อม สภาพปัญหาและสภาพแวดล้อมของโรงเรียนหรือท้องถิ่น และเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในระยะยาวและยั่งยืนในการพัฒนาการอ่านและสร้างนิสัยรักการอ่านแก่นักเรียน
2.4 ควรมีการประเมินความคงสภาพของการดำเนินโครงการส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนบ้านหาดทรายยาวเป็นระยะ
2.5 ควรนำกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษาต่อไป เนื่องจาก เป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และช่วยเสริมสร้างทักษะในการอ่าน และสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน