บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 ประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งนี้ ประเมินโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) โดยแบ่งการประเมินโครงการออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product)
กลุ่มตัวอย่างในการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 5 คน และนักเรียนจำนวน 41 คน รวมทั้งหมด 46 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ปรากฏผลดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและนักเรียน โดยรวมทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม(Context) พบว่า ครูผู้สอน มีระดับความคิดเห็นในด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ปีงบประมาณ 2559 โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า(Input) พบว่า ครูผู้สอน มีระดับความคิดเห็นในด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ปีงบประมาณ 2559 โดยรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ(Process) พบว่า ครูผู้สอน และนักเรียน มีระดับความคิดเห็นในด้านกระบวนการของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ปีงบประมาณ 2559 โดยรวมอยู่ในระดับมาก
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต(Product) พบว่า ครูผู้สอน และนักเรียน มีระดับความคิดเห็นในด้านผลผลิตของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน ปีงบประมาณ 2559 โดยรวมอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะทั่วไป
จากการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 ด้านสภาวะแวดล้อม(Context) ผู้รับผิดชอบโครงการควรเพิ่มเติมและปรับปรุงหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ของโครงการ ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ตามสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง และมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองตามนโยบายของโรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงศึกษาธิการ ควรเพิ่มเติมแหล่งเรียนรู้ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้กับนักเรียน ทั้งในห้องเรียนและบริเวณภายในโรงเรียนให้ครอบคลุมทั้งโรงเรียน
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า(Input) ผู้รับผิดชอบโครงการควรให้ความรู้หรือเชิญวิทยากรให้ความรู้ เรื่อง โรงเรียนวิถีพุทธ กับผู้บริหาร คณะครูและบุคลากรทุกคน เพื่อจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรงเรียนวิถีพุทธไปในทิศทางเดียวกัน จะได้นำความรู้มาบูรณาการกับวิชาที่สอนได้ตลอดแนว และกำหนดงบประมาณให้สอดคล้องกับกิจกรรมในโรงเรียนให้ครอบคลุมกับนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคน ควรเพิ่มเติมกิจกรรมที่สามารถนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติใช้ได้จริงในโรงเรียน เพื่อเป็นตัวอย่างของนักเรียนในการปฏิบัติตนที่ดี
1.3 ด้านกระบวนการ(Process) พบว่า มีแผนการดำเนินงานตามโครงการอย่างชัดเจน ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนจะต้องมีการวางแผนกำหนดกิจกรรมเป็นข้อตกลงร่วมกัน และร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ มีการนิเทศ กำกับติดตาม และประเมินผลในการดำเนินงานของโครงการอย่างเป็นระบบ ควรมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการโรงเรียน วิถีพุทธต่อผู้ปกครอง ชุมชน และสาธารณะชน และให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการ
1.4 ด้านผลผลิต(Product) พบว่า สามารถดำเนินโครงการจนบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นที่พึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และนอกจากการดำเนินตามโครงการแล้ว ครูผู้สอนควรส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามหลักโรงเรียนวิถีพุทธด้วยการบูรณาการอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ควรเผยแพร่ผลงานผลผลิตของนักเรียนที่ได้จากโครงการโรงเรียนวิถีพุทธแก่ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้ทราบอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินโครงการครั้งต่อไป
จากการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านทุ่งปาหนัน มีข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินโครงการครั้งต่อไป ดังนี้
2.1 ควรมีการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธทุกปี เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาและปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้นต่อไป
2.2 ควรจัดกลุ่มโรงเรียนวิถีพุทธประจำเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน
2.3 ทุกโรงเรียนที่มีโครงการโรงเรียนวิถีพุทธควรมีการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการทุกปี เพื่อทราบผลและใช้ในการปรับปรุงโครงการของตนเอง
2.4 ควรประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โดยใช้รูปแบบการประเมินอื่น ๆ นอกจาก CIPP Model เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการประเมิน