การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความกลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจในการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านจับใจความกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนสนามบิน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 8 ห้องเรียน รวม 334 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 ของโรงเรียนสนามบิน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559
จำนวน 1 ห้องเรียน รวม 48 คน โดยการเลือกแบบจำเพาะเจาะจง
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ (1)แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านจับใจความ จำนวน 20 แผน (2) แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 10 ชุด (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านเพื่อจับใจความความ จำนวน 30 ข้อ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจในการอ่านโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ด้วยการตรวจสอบความเที่ยงตรง (Validity) โดยการหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC : Index of Item Objective Congruence) การหาประสิทธิภาพ และการหาค่าดัชนีประสิทธิผล ของแบบฝึกทักษะ การศึกษาความคิดเห็นของนักเรียน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการศึกษา พบว่า
(1) แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.25/83.46 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ตั้งไว้ 80/80
(2) ดัชนีประสิทธิผลของ แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้น
ประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.74 แสดงว่าผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74 สูงกว่าเกณฑ์ของค่าดัชนีประสิทธิผล คือ 0.50 หรือร้อยละ 50
(3) ในภาพรวมความพึงพอใจในการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้
แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านจับใจความภาษาไทย ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น อยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านสื่อการเรียนรู้ และด้านการวัดและประเมินผล นักเรียนมีความ พึงพอใจในระดับมากที่สุด ส่วนด้านเนื้อหาสาระ และด้านกิจกรรมการเรียนรู้นักเรียนมีความ พึงพอใจในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ก็พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจ ตั้งแต่ระดับมากขึ้นไป ทุกข้อคำถาม