บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาพแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตของการดำเนินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนน้ำรอบวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ CIPP Model กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนและนักเรียน จำนวน 100 คน ใช้เครื่องมือเป็นแบบสอบถามประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับดังนี้ ด้านกระบวนการของโครงการ ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ด้านผลผลิตของโครงการ และด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ
2. การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยภาพรวมมีอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่าจุดประสงค์ของโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวคิดของการพอเพียงให้กับนักเรียนและบุคลากรได้อย่างแท้จริง (x̄ = 4.53) มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา เป็นโครงการที่สามารถทำให้สำเร็จภายใน ระยะเวลาที่กำหนด (x̄ = 4.45) วัตถุประสงค์ของโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ตรงตามเป้าหมายและมีความชัดเจน ( x̄= 4.45) และการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปกำหนดในวิสัยทัศน์ของโรงเรียน (x̄ = 4.45)
3. การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ด้านปัจจัยนำเข้าที่ใช้ในการดำเนินโครงการ โดยภาพรวมมีอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่าโรงเรียนมีการวางแผนการบริหารจัดการสถานศึกษาที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (x̄ = 4.58) มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาโรงเรียนประสานความร่วมมือกับชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินงานของกิจกรรมดำเนินไปได้อย่างลุล่วง (x̄ = 4.57) และ โรงเรียนมีแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทุกระดับพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ( x̄= 4.47)
4. การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ด้าน กระบวนการในการดำเนินโครงการ โดยภาพรวมมีอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่าโรงเรียนบริหารจัดการอาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบอย่างเหมาะสม (x̄ = 4.67) มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้การฝึกซื้อ ฝึกขาย การจ่าย การออม โดยการปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรมสหกรณ์และชุมนุมธนาคารโรงเรียน (x̄ = 4.56) และ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ดนตรี กีฬา ศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่น (x̄ = 4.55)
5. การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ด้านผลผลิตการดำเนินโครงการ พบว่า
5.1 การประเมินความรู้ ความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและนักเรียนโรงเรียนน้ำรอบวิทยา ปีการศึกษา 2559 พบว่า มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 89.67
5.2 การนำแนวความคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยภาพรวมมีอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า รักษาสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการดูแลทำความสะอาดหรือปลูกต้นไม้ตามโอกาสต่างๆ (x̄ = 4.61) ค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ มีความกตัญญู รู้คุณและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ ( x̄= 4.59)และรู้จักประหยัด อดออม โดยมีเสื้อผ้า รองเท้าให้เลือกใส่เท่าที่จำเป็นและถูกกาลเทศะ (x̄ = 4.53)
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
จากผลการประเมิน พบว่า การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก สามารถนำผลการวิจัยไปปรับใช้และสรุปเป็นข้อเสนอแนะได้ดังนี้
1. โรงเรียนควรมีการวางแผนและกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน มีการนิเทศติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง
2. โรงเรียนควรประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
3. โรงเรียนควรมีกิจกรรมปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนักรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติโดยบูรณาการความรู้ ความเข้าใจในกิจกรรมการเรียนการสอน ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
4. โรงเรียนควรปลูกฝัง สร้างความตระหนักให้กับนักเรียนเกี่ยวกับการมีวินัยในการใช้จ่าย เช่น การออมทรัพย์ การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เป็นต้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรนำรูปแบบการประเมิน CIPP Model ไปประยุกต์ใช้ในการประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน เพื่อตรวจสอบขั้นตอนของกิจกรรมทุกขั้นตอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผน แก้ปัญหาหรือพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน
2. โรงเรียนที่มีสภาพพื้นที่ สภาพปัญหา และความต้องการที่คล้ายคลึงกับโรงเรียนน้ำรอบวิทยา เพื่อนำแนวทาง ไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกๆ ส่วนของโครงการและกิจกรรม