บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รายงานการเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์เด็กปฐมวัย โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองตามรูปแบบของเอปสไตน์ ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2
โรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (ชุมชนเปือยหัวดง)
ผู้รายงาน นางพรรณี ปาวรีย์
หน่วยงานที่สังกัด โรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (ชุมชนเปือยหัวดง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2559
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการรายงานการเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์เด็กปฐมวัย โดยใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองตามรูปแบบของเอปสไตน์ ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (ชุมชนเปือยหัวดง) มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ การศึกษาผลการพัฒนาพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กปฐมวัยและศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ตามรูปแบบที่ผู้วิจัยได้กำหนดขึ้น ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียนและผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เด็กปฐมวัยและผู้ปกครอง ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (ชุมชนเปือยหัวดง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 28 คน โดยถือว่าเด็ก 1 คนมีผู้ปกครอง 1 คน และได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง คือเด็กในชั้นเรียนที่ผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้น ดำเนินการทดลองผ่านกิจกรรมตามรูปแบบของเอปสไตน์
6 ด้าน เพื่อความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมผู้วิจัยได้รวบรวมจัดทำเป็นรูปเล่ม เป็นคู่มือสำหรับ
จัดกิจกรรมตามรูปแบบการมีส่วนร่วม ซึ่งรูปแบบการมีส่วนร่วมดังกล่าว ได้แก่ 1) การอบรมเลี้ยงดู 2) การติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3) การอาสาสมัคร 4) การเรียนรู้ที่บ้าน 5) การตัดสินใจ และ 6) การมีส่วนร่วมกับชุมชนหรือการให้ความร่วมมือกับชุมชน
ดำเนินการทดลองโดยผู้วิจัย ทดลองใช้ 1 ภาคเรียน เป็นการวิจัยเชิงทดลองในการใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง วิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์การวิจัย จากเครื่องที่ใช้ คือ แบบประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์และความพึงพอใจของผู้ปกครอง ในการประเมินผลพัฒนาการด้านอารมณ์ ประเมินโดยครูและผู้ปกครอง นำผลการทดลองวิเคราะห์
หาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า เด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาล 2 มีพัฒนาการด้านอารมณ์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ตามรูปแบบการมีส่วนร่วม 6 ด้านอยู่ในระดับมาก