ชื่องานวิจัย รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการของคนไทย โรงเรียนอุปัชฌาย์พวนอุทิศ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ผู้วิจัย กมลทรรศน์ ใสสูงเนิน
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการของคนไทย โรงเรียนอุปัชฌาย์พวนอุทิศ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยที่จะประเมินโครงการภายใต้กรอบการประเมินเชิงระบบของ CIPPIEST Model ๑) เพื่อประเมินความเหมาะสมของบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ๒) เพื่อประเมินความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้าที่ใช้ในการดำเนินงานตามโครงการ ๓) เพื่อประเมินความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานโครงการ ๔) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ ในเรื่อง คุณธรรม จริยธรรมนักเรียน จำนวน ๑๒ ด้าน ได้แก่ ด้านที่ ๑ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้านที่ ๒ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม ด้านที่ ๓ กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ด้านที่ ๔ ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ๕ รักษาวัฒนธรรมและประเพณีไทยอันงดงาม ด้านที่ ๖ มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน ด้านที่ ๗ เข้าใจ เรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง ด้านที่ ๘ มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ ด้านที่ ๙ มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านที่ ๑๐ รู้จักดำรงตนอยู่ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านที่ ๑๑ มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ด้านที่ ๑๒ คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ๕) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการของคนไทย ๖) เพื่อประเมินประสิทธิผลของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการของคนไทย ๗) เพื่อประเมินความยั่งยืนของผลที่เกิดขึ้นของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการของคนไทย ๘) เพื่อประเมินความสามารถถ่ายทอดขยายผลต่อเนื่องได้ของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการของคนไทย ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research) ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และ เชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประชากรการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ ครู จำนวน ๘ คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๗ คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ จำนวน ๔๒ คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ จำนวน ๔๒ คน ปีการศึกษา ๒๕๕๙ โรงเรียนอุปัชฌาย์พวนอุทิศ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งหมด จำนวน ๙๙ คน ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพ ได้แก่ ตัวแทนครูพระสอนธรรมศึกษา จำนวน ๑ รูป หัวหน้ากลุ่มงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโรงเรียน จำนวน ๑ คน ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๒ คน ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ชั้นเรียนละ ๑ คน รวมจำนวน ๓ คน ได้มาจากวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) รวมทั้งหมด จำนวน ๗ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย แบบสอบถามครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) ตัวแทนครูพระสอนธรรมศึกษา หัวหน้ากลุ่มงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
โรงเรียน ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ยในประชากร ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในประชากร และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัย พบว่า
ด้านบริบท (C : Context) ของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้านปัจจัยนำเข้า (I : Input) ของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ด้านกระบวนการ (P : Process) ของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ด้านผลผลิต (P : Product) ของโครงการเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ด้านผลกระทบ (I : Impact) ของโครงการมีความเห็นด้วย ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ด้านประสิทธิผล (E : Effectiveness) ของโครงการมีคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้านความยั่งยืนของผลที่เกิดขึ้น (S : Sustainable) ของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้านความสามารถถ่ายทอดขยายผลต่อเนื่องได้ (T : Transportation) ของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก