ผู้รายงาน นางจารุนี แสงโคตร
สถานที่ทำงาน โรงเรียนวัดบ้านอุ่มจานโนนงิ้ว ตำบลวังไม้แดง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design ) ซึ่งใช้แบบแผน
การทดลองแบบ One Group Pretest- Posttest Design ที่ใช้ในกลุ่มตัวอย่างเดียว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope)
ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ มาตรฐาน 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการ จัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope)
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นเด็กชาย หญิง ชั้นอนุบาลปีที่ 1 อายุระหว่าง 4-5 ปี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนวัดบ้านอุ่มจานโนนงิ้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 จำนวน 9 คน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายผู้รายงานได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง
( Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope) 2) แบบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย 3) แบบสังเกตพฤติกรรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผู้รายงานดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยคำนวณเปรียบเทียบผลของการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ด้วยการหาค่าเฉลี่ย และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
1. แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope) มีประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ E1/E2 เท่ากับ 80/80 ทุกคน แสดงว่า แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope) มีประสิทธิภาพทุกแผนเมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope) มีประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 83.56/92.59 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. คะแนนจากการวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนการทดลอง มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 2.78 ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.97 และหลังการทดลองมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 5.56 ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.53 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีพัฒนาการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดไฮสโคป (High / Scope) โดยภาพรวมและจำแนกรายทักษะทั้ง 2 ทักษะอยู่ในระดับดี