เรื่องที่ศึกษา รายงานการใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD)
ผู้รายงาน นางสาวดนุรี เงินศรี วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียน สันติราษฎร์วิทยาลัย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ปีที่พิมพ์ 2560
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
รายงานการใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อหาประสิทธิผลของชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ รวมทั้งผลการใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่ผู้เรียนมีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) ก่อนเรียนและหลังเรียน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 31 คน จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์จำนวน 6 แผน เวลา 18 ชั่วโมง 2) ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) จำนวน 4 ชุด 3) แบบประเมินคุณภาพของชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และ
5) แบบประเมินความความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าดัชนี
ความสอดคล้อง (IOC) ค่าความยากง่าย (P) ค่าอำนาจจำแนก (r) ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ และสถิติทดสอบสมมติฐาน คือ t-test
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) มีค่าประสิทธิภาพ 84.10/88.55 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
2. ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์มีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.81 แสดงว่าผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 81 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ 3 (ค 32101) โดยใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (x̄ = 24.19, S.D. = 3.34) สูงกว่าก่อนเรียน (x̄ = 13.97, S.D. = 2.96) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคการแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์ (STAD) อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.51, S.D. = 0.18)