ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านตะกรบ
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวปิยมาส เต้งชู
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนบ้านตะกรบ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎธร์ธานี เขต 2
ปีที่รายงาน 2560
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านตะกรบ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องและการจำเป็นในการจัดทำโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องของนโยบายของหน่วยงาน 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร ความเพียงพอของงบประมาณ ความเหมาะสมวัสดุ อุปกรณ์และสถานที่ 3) ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินงาน การติดตามประเมินผล และการนำผลไปปรับปรุงพัฒนา ของกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม คือ กิจกรรมการเข้าค่ายอบรมคุณธรรมจริยธรรม กิจกรรมธนาคารความดี กิจกรรมเข้าร่วมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และกิจกรรมสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมประจำวันศุกร์ และ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน พฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน และความพึงพอใจของ นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครู มีประชากรที่ศึกษา จำนวน 158 คน ประกอบด้วย นักเรียน 55 คน ผู้ปกครอง 89 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 คน และครู 7 คน เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย แบบบันทึกและแบบสอบถาม จำนวน 6 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้หาคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ ดัชนีประสิทธิภาพ IOC หาความตรงเชิงเนื้อหาของแบบสอบถาม และสัมประสิทธิ์แอลฟ่า หาความเที่ยงของแบบสอบถาม ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและ ทุกตัวชี้วัด ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งตัวชี้วัดความต้องและการจำเป็นในการจัดทำโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และความสอดคล้องของนโยบายของหน่วยงาน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก ทั้งตัวชี้วัดความพร้อมของบุคลากร ความเพียงพอของงบประมาณ ความเหมาะสมของวัสดุ อุปกรณ์และสถานที่
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทั้งตัวชี้วัดการวางแผน การดำเนินงาน การติดตามประเมินผล และการนำผลไปปรับปรุงพัฒนา
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากทุกตัวชี้วัด ทั้งตัวชี้วัดร้อยละของนักเรียนที่ผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน และความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของผู้ปกครอง ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษา และความพึงพอใจของครู