ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน
ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์
ผู้ประเมิน นางสาวน้ำเพชร คงเพชรศักดิ์
รองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน ดังต่อไปนี้ 1. เพื่อประเมินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน 4 ด้าน คือ 1) ด้านบริบทของโครงการ 2) ด้านปัจจัยเบื้องต้นที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 3) ด้านกระบวนการดำเนินโครงการ 4) ด้านผลผลิตของโครงการ 2. เพื่อประเมินความพึงพอใจโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์
ประชากรที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครูและบุคลากรศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 23 คน ผู้บริหารและครูโรงเรียนที่เป็นเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่าน จำนวน 17 คน ผู้ปกครอง จำนวน 8 คน นักเรียนพิการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน มี 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 แบบสอบถามการประเมินด้านบริบทของโครงการและด้านปัจจัยเบื้องต้นที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามการประเมินด้านกระบวนการดำเนินโครงการ ฉบับที่ 3 แผนการเปลี่ยนผ่านเฉพาะบุคคล ฉบับที่ 4 แบบสอบถามความพึงพอใจโครงการ แบบสอบถามฉบับที่ 1 2 และ 4 มีลักษณะของแบบสอบถามเป็นแบบมาตราประมาณค่า 5 ระดับ ฉบับที่ 3 ตัดสินผลการประเมินแต่ละกิจกรรม เป็น 2 ระดับ คือ ผ่าน และ ไม่ผ่าน
การเก็บรวบรวมข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 การเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างดำเนินโครงการ ระยะที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูลหลังเสร็จสิ้นโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีความเหมาะสมสูงสุดอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ โครงการมีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนพิการ และ โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นที่ใช้ในการดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีความเหมาะสมสูงสุดอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ 1) โครงการมีงบประมาณเพียงพอและเหมาะสมต่อการดำเนินงาน 2) คณะกรรมการดำเนินงานการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการมีความเหมาะสม 3) คู่มือการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ มีความเพียงพอ เหมาะสม และสอดคล้องกับขั้นตอนในการดำเนินงาน อ่านเข้าใจง่าย และ 4) คู่มือผู้ปกครอง การเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ มีความเพียงพอ เหมาะสม และสอดคล้องกับขั้นตอนในการดำเนินงาน อ่านเข้าใจง่าย
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีความเหมาะสมสูงสุดอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ คณะกรรมการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านเฉพาะบุคคลจัดทำแผนเหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนพิการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์
ผลการประเมินความสามารถของนักเรียนพิการตามแผนการเปลี่ยนผ่านเฉพาะบุคคล พบว่า นักเรียนพิการที่มีความสามารถเหมาะสมเข้าสู่ระบบโรงเรียน จำนวน 7 คน นักเรียนพิการมีความสามารถไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบโรงเรียน จำนวน 1 คน
ดำเนินการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนในปีการศึกษา 2560 จำนวน 7 คน
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีความพึงพอใจสูงสุดอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ 1) คณะกรรมการ จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านเฉพาะบุคคลมีความเหมาะสม 2) ขั้นตอนการดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนมีความเหมาะสม และ 3) ขั้นตอนในการดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านนักเรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อนักเรียนพิการ