บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการเรียนรู้ คู่พอเพียง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านทรายทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ CIPP Model กลุ่มตัวอย่าง ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินโครงการครั้งนี้ จำนวน 97 คน แบ่งเป็น ครู จำนวน 9 คน ผู้ปกครอง จำนวน 35 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 46 คน และกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ และแบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ โดยเกณฑ์การประเมินที่กำหนดขึ้น ผ่านความเห็นชอบของผู้ทรงคุณวุฒิและหาคุณภาพของเครื่องมือจากผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่า t-test โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านบริบท อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ (4.38) ตัวชี้วัด ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ (4.13) และ ความเป็นไปได้ของโครงการ (4.21)
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีผลการดำเนินโครงการด้านปัจจัยนำเข้า อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ตัวชี้วัดความพร้อมและทรัพยากรในการดำเนินโครงการ (4.04)
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ตัวชี้วัดวิธีดำเนินการจัดกิจกรรมของโครงการ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านผลผลิต อยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนในระดับมากที่สุด 1 ตัวชี้วัด คือ นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตัวชี้วัดได้คะแนนในระดับมาก 4 ตัวชี้วัด ความพึงพอใจของนักเรียนในการดำเนินโครงการ (4.19) ความพึงพอใจของผู้ปกครองในการดำเนินโครงการ (4.18) ความพึงพอใจของกรรมการสถานศึกษาในการดำเนินโครงการ (4.31) และความพึงพอใจของครูในการดำเนินโครงการ (4.17) ตามลำดับ
5. ผลการประเมินโครงการภาพรวม พบว่า ผลการดำเนินโครงการเรียนรู้ คู่พอเพียง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านทรายทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 81.4) ซึ่งประเด็นการประเมินทั้ง 4 ประเด็น ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยประเด็นการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด 1 ประเด็น คือ ด้านผลผลิต (ร้อยละ 42) ประเด็นในการประเมินอยู่ในระดับมาก 3 ประเด็น คือ ด้านบริบท (ร้อยละ 7.4) ด้านปัจจัยนำเข้า (ร้อยละ 16) และด้านกระบวนการ (ร้อยละ 16)