ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถใน
การคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางปนัดดา เนินนิล
หน่วยงาน โรงเรียนท่าบ่อ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 21
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองใช้รูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนท่าบ่อ จำนวน 42 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานด้วยสถิติที แบบไม่อิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง 6) ระบบสนับสนุน รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมี 5 ขั้น ประกอบด้วย 1) ขั้นทบทวนความรู้เดิม 2) ขั้นเผชิญสถานการณ์ 3) ขั้นค้นหาแนวทาง 4) ขั้นนำความรู้ไปใช้ และ 5) ขั้นสรุปและประเมินผล
2. ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเท่ากับ 82.80/83.84 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
3. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยนักเรียนพึงพอใจต่อการสอนด้วยรูปแบบด้านกิจกรรม
การเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด