ชื่อผลงาน การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะ
วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย กาญจนา แก้วละเอียด
ปีที่วิจัย พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน เท่ากับ 75/75 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ และศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/5 โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 43 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประกอบด้วย แผนปฐมนิเทศ จำนวน 1 แผน และแผนการจัดการเรียนรู้
เรื่อง ลำดับ จำนวน 18 แผน รวมทั้งสิ้น 19 แผน ใช้เวลาจำนวน 19 คาบ ๆ ละ 50 นาที แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 3 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ
4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ โดยมีค่าความเชื่อมั่น (KR-20) ของ Kuder Richardson เท่ากับ 0.80 และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 15 ข้อ แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale)
ผลการวิจัย พบว่า แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อนำไปจัดการเรียนรู้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 76.84/75.76 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (75/75) และเป็นไปตามสมมุติฐานข้อ 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานข้อ 2 และความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.60 แสดงให้เห็นว่าโดยรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ 3