โรงเรียนโพธิ์ธาตุประชาสรรค์
องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รายวิชา ง23203 การปลูกพืชผักทั่วไป กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยใช้ชุดการเรียนร่วมกับวิธีสอนแบบเน้นทักษะปฏิบัติ
นางสมบัลย์ แก้วงาม
ทำวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้เป็นการรายงานการวิจัยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาประสิทธิภาพของ ชุดการเรียน รายวิชา ง23203 การปลูกพืชผักทั่วไป กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนจากการเรียนรายวิชา ง23203 การปลูกพืชผักทั่วไป โดยใช้ชุดการเรียนร่วมกับวิธีสอนแบบเน้นทักษะปฏิบัติ และ (3) ศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนร่วมกับวิธีสอนแบบเน้นทักษะปฏิบัติ กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 1 โรงเรียนโพธิ์ธาตุประชาสรรค์ สังกัดองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อน และหลังเรียน (One Group, Pretest-Posttest Design) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ชุดการเรียน รายวิชา ง23203 การปลูกพืชผักทั่วไป กลุ่มสาระ การเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.70/83.63 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 (2) นักเรียนที่เรียนรายวิชา ง23203 การปลูกพืชผักทั่วไป โดยใช้ชุดการเรียน ร่วมกับวิธีสอนแบบเน้นทักษะปฏิบัติ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ (3) นักเรียนมีเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดการเรียนร่วมกับวิธีสอนแบบเน้นทักษะปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.99 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.82
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายทางการศึกษาที่ตราไว้เพื่อให้หน่วยงานและ ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาทุกระดับ ปฏิบัติตามข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ ดังนั้นการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องวิเคราะห์บทบัญญัติในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ อาทิ หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ (กรมสามัญศึกษา, 2546 : 12) นอกจากนี้ มาตรา 23 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้
2
และบูรณาการตามความเหมาะสม และมาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ เช่น จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (กรมสามัญศึกษา, 2546 : 12-13)
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (2554 : ออนไลน์) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 อาทิ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยกำหนดว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งสร้างกระแสสังคม ให้การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มีนิสัยใฝ่รู้ รักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก และส่งเสริม การเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัยควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้องค์กร กลุ่มบุคคล ชุมชน ประชาชน และสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สู่การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน กำหนดว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ให้เป็นพลังขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน เน้นการนำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพย์สินทางปัญญา วิจัยและพัฒนา ไปต่อยอด และประยุกต์ใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ สังคม และชุมชน โดยสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมที่ส่งเสริม การใช้ความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิต ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้ทั่วถึงและเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในลักษณะของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน