การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาเอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เรื่องลีลานาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพ (E1/E2) ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชานาฏศิลป์สร้างสรรค์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง ลีลานาฏศิลป์ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง ลีลานาฏศิลป์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวร-นารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ที่เลือกเรียนรายวิชานาฏศิลป์สร้างสรรค์ รหัสวิชา ศ20209 จำนวน 30 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าประกอบด้วย
1) เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เรื่องลีลานาฏศิลป์ รายวิชานาฏศิลป์สร้างสรรค์ รหัสวิชา ศ20209 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ที่ผู้ศึกษาสร้างและพัฒนาขึ้นจำนวน 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 นาฏยศัพท์ ชุดที่ 2 ภาษาท่านาฏศิลป์ และชุดที่ 3 รำวงวรนารี
2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 1 ฉบับ เป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ใช้วัดผลก่อนเรียนและหลังเรียนซึ่งเป็นชุดเดียวกัน
3) แบบวัดทักษะปฏิบัติการฝึกปฏิบัติลีลานาฏศิลป์ จำนวน 1 ฉบับ ใช้วัดทักษะปฏิบัติหลังเรียนโดยใช้แบบประเมินทักษะปฏิบัติ จำนวน 16 ข้อ
4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าของลิเคิร์ท โดยแบ่งระดับความพึงพอใจเป็น 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด จำนวน 15 ข้อ
การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดโดยผู้รายงาน การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคุณภาพเครื่องมือโดยการหาคุณภาพจากค่า IOC หาค่าประสิทธิภาพเอกสารจากเกณฑ์คุณภาพ E1/E2 ค่าความเชื่อมั่นแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้สูตร KR. 20 ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน และค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามความพึงพอใจโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟา (α- Coefficient) ของคอนบัค
( Cronbach)
ผลการศึกษา พบว่า
1) เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง ลีลานาฏศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น จากการทดลองภาคสนามมีประสิทธิภาพ 83.18/80.33 และจากการนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างมีประสิทธิภาพ 89.24/86.06 ซึ่งประสิทธิภาพที่ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือ 80/80
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชานาฏศิลป์สร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนร่วมกับสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง ลีลานาฏศิลป์ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.53