ผู้รายงาน นางลลนา บุญเย็น
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล)
ปีการศึกษา 2559
รายงานการพัฒนารายงานการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตาม
มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ของการรายงาน 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ประชากรที่ใช้ในการรายงานครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ 9 (บัวหุ่ง -หนองอึ่ง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 จำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ บ้านโต่งโต้น บ้านโกทา บ้านเปือยขาม บ้านฮ่องข่า บ้านบัวหุ่ง(รัฐราษฎร์สามัคคี) บ้านหนองกก บ้านอีหนา(รัฐประชานุกูล) บ้านห้วย บ้านหัวขัวนาแปะหนองอึ่งและบ้านโนนตุ่น รวมจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 102 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการรายงานได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) กลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ 9 (บัวหุ่ง - หนองอึ่ง) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Simple)
เครื่องมือที่ใช้ในการรายงาน ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ การอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด จำนวน 9 แผน แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด จำนวน 9 ชุด แบบทดสอบย่อยท้ายแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด จำนวน 9 ชุด ชุดละ 10 ข้อ รวม 90 ข้อ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.87
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
การหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนคำตามมาตราตัวสะกดและเปรียบเทียบคะแนน ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนคำตามมาตราตัวสะกด โดยใช้การทดสอบลำดับพิสัยวิลคอกซอน (Wilcoxon Signed Rank Test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.59/81.94 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ตั้งไว้
2. คะแนนจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง มาตราตัวสะกด แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยคะแนนการทดสอบหลังการจัดกิจกรรมการเรียนสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมการเรียน
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.57