บทคัดย่อ
หัวข้อวิจัย การพัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง
และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยา และเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล
ผู้วิจัย นายเบญจรงค์ แสวงผล
โรงเรียนอนุบาลขุนหาญ (สิ)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
ปี พ.ศ. 2559
วิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง
การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยา และเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยา และเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดลและ
3) ศึกษาความคงทนหลังเรียนผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้พัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยา และเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนอนุบาลขุนหาญ (สิ) อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 30 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยกำหนดกลุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยาและเทคนิคการวาดรูป บาร์โมเดล จำนวน 12 แผน 2) แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยาและเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล จำนวน 12 แบบฝึก 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหา การวัด การชั่ง การตวง เป็นแบบทดสอบแบบปรนัยแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.43 ถึง 0.79 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.28 ถึง 0.91 และความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.91
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ E1/E2 และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัย
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยาและเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.22/84 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยาและเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน ที่ระดับนัยสำคัญ 0.01
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนและหลังเรียนผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ ของนักเรียน ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวัด การชั่ง และการตวง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแนวคิดของโพลยาและเทคนิคการวาดรูปบาร์โมเดล ไม่แตกต่างกันที่ ระดับนัยสำคัญ 0.01
_________________________________________