ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS
เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสุภาพ ล่องหลง
สถานศึกษา โรงเรียนสวนศรีวิทยา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ (1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80 / 80 (2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์หลังใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสอง ตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กับเกณฑ์ร้อยละ 80 (3) เพื่อศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียนที่เรียนโดยชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน สวนศรีวิทยา ที่เรียนรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม 4 รหัสวิชา ค22202 เรื่อง สมการกำลังสอง ตัวแปรเดียว ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยสุ่มนักเรียนอย่างง่าย 1 ห้องเรียน จำนวน 39 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ (1) แบบทดสอบวัดทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ (2) แบบวัดความพึงพอใจ ของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมฯ จำนวน 20 ข้อ (3) ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้ แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 5 ชุด
ผลการวิจัย พบว่า
1. ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยคู่มือประกอบการใช้ชุดกิจกรรมสำหรับครู คำชี้แจงในการใช้ชุดกิจกรรมสำหรับผู้เรียน และชุดกิจกรรมจำนวน 5 ชุด โดยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน พิจารณาหาค่าความเหมาะสมของชุดกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.14) แล้วหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม ได้ประสิทธิภาพเท่ากับ 80.22 / 80.73
2. นักเรียนมีทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ หลังใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธี การจัดการเรียนรู้แบบ SSCS สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้ หลังจากใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ สูงกว่าหลังใช้ชุดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS เรื่อง สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมาก