เรื่องที่ศึกษา รายงานผลการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ผู้รายงาน นายไพรัตน์ แก้วเทพ
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
รายงานผลการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
วัตถุประสงค์
เพื่อสร้างแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย เรื่อง คำควบกล้ำ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 ของโรงเรียนบ้านวังทอง ปีการศึกษา 2559 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ก่อนและหลังการใช้ แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบ้านวังทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 จำนวน 21 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ จำนวน 6 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x̄ ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD ) และการทดสอบค่า t- test (dependent sample)
ผลการศึกษาพบว่า
1. การหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ พบว่าแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 82.57/83.65 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. คะแนนเฉลี่ยของการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียนกับคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน ด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ แตกต่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ควรนำแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปประยุกต์ใช้สำหรับเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพราะจากผลการศึกษายืนยันได้ถึงความสำเร็จในการนำไปใช้แล้ว คือ การมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.57 /83.65 สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้นได้ และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. จากการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนพบว่ารายการกิจกรรมการเรียนสนุกและน่าสนใจหรือบางกิจกรรมไม่เป็นที่น่าสนใจของนักเรียน ครูผู้สอนหรือผู้ที่ต้องการนำผลการศึกษาไปใช้ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบการจัดกิจกรรม แบบฝึกและแบบทดสอบต่างๆให้มีความเหมาะสม สามารถดึงดูดความสนใจนักเรียนให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป