ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์
จิตใจ และสังคม ชั้นอนุบาลปีที่ 1
ผู้ศึกษา นางสาวสุชาดา พรมแดง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
ปีที่ศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เป็นวิธีการหนึ่งที่มุ่งเน้นในการปลูกฝังผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมตลอดจนมีคุณลักษณะตามค่านิยมและวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม นอกจากนี้ยังมีผลต่อ
การส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม การศึกษาในครั้งนี้ 1) เพื่อพัฒนาหนังสือกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน และแผนการจัดประสบการณ์ สำหรับนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 1 2) เพื่อศึกษาระดับพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ระหว่างก่อนการจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์ กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 23 คน โรงเรียนบ้านหินฮาวน้ำกงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน แผนการจัดประสบการณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ
และสังคม ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 90.00/95.20 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม ชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีค่าเท่ากับ 0.9219 ซึ่งหมายถึง นักเรียนมีความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มขึ้นหลังเรียน คิดเป็นร้อยละ 92.19
3. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านหินฮาวน้ำกงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 ปีการศึกษา 2559 มีระดับพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม หลังจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน
เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม ชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยภาพรวมตามกรอบคุณลักษณะตามวัย 6 พฤติกรรม (การแสดงออกทางด้านอารมณ์, การแสดงความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น, คุณธรรมและจริยธรรม, การช่วยเหลือตนเอง, การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณธรรมและการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม) พบว่า นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์การละเล่นพื้นบ้าน มีระดับพัฒนาการรวมทุกด้านที่น่าพึงพอใจดี โดยมีค่าเฉลี่ยก่อนการทดสอบมีค่าเท่ากับ 3.32 และหลังการทดสอบมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 จำแนกเป็นด้านอารมณ์ จิตใจ มีระดับพัฒนาการที่น่าพึงพอใจดี (ค่าเฉลี่ย = 4.39) โดยลักษณะตามวัยที่เป็นพฤติกรรมการแสดงความรู้สึก
ที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีระดับพัฒนาการน่าพึงพอใจดีมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.55) พัฒนาการด้านสังคม
มีระดับพัฒนาการที่น่าพึงพอใจดี (ค่าเฉลี่ย = 4.28) เมื่อพิจารณาตามคุณลักษณะตามวัยแล้ว พฤติกรรมการช่วยเหลือตนเองมีพัฒนาการมากที่สุด มีความน่าพึงพอใจในระดับดีมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.90)
การจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาพัฒนาขึ้น ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และช่วยให้นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข
นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ครูผู้สอนได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ
และสังคม ชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคมเพิ่มมากขึ้นกว่าการจัดประสบการณ์การเรียนที่ไม่ได้ใช้แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน
โดยสรุป การพัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม จากชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เป็นการจัดประสบการณ์ที่มีผลต่อการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการ การแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย ด้านคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ตามค่านิยม วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาด้าน
อื่น ๆ ต่อไป