ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นางอรทัย ยาโนยะ
ปีที่ทำการทดลอง ปีการศึกษา 2559
โรงเรียน โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1. พัฒนาแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสรรพวิทยาคม
ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ซึ่งมาจากการเลือกแบบเจาะจง
( Purposive Sampling ) ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนสรรพวิทยาคม
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 ภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2559 จำนวน 43 คน เครื่องมือที่ใช้คือ 1.แบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 5 เล่ม 2. แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง วิเคราะห์ วิจารณ์ วรรณกรรม วรรณคดี จำนวน 17 แผน 3. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย แบบอิงเกณฑ์ ใช้เป็นแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ซึ่งเป็นชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนก (B) ได้ค่าตั้งแต่ 0.20 ถึง 0.40 และหาค่าความยากง่าย (P) ตั้งแต่ 0.45 ถึง 0.700 มีค่าความเชื่อมั่น (Rcc) ของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.82 และ 4. แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) แบบสอบถามมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ระหว่าง 0.36 ถึง 0.52 และมีค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับเท่ากับ 0.72 ผลการทดลองปรากฏดังนี้
1. ประสิทธิของแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้ศึกษาพัฒนาขึ้น มีค่าประสิทธิภาพ
83.53/83.59 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะ การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้ศึกษาพัฒนาขึ้นผู้เรียนมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.31, S.D. = 0.51)