บทคัดย่อ
เรื่อง : รายงานผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย
ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านห้วยเอียน
ชื่อผู้ศึกษา : นางกิ่งกาญจน์ ไชยราช
ปีการศึกษา : 2559
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้านการสังเกต การจำแนกประเภท การสื่อความหมายและการลงความเห็นระหว่างการจัดกิจกรรม การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 เป็นช่วงสัปดาห์ จำนวน 10 สัปดาห์ และเพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้านการสังเกต การจำแนกประเภท การสื่อความหมายและการลงความเห็น ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านห้วยเอียน จำนวน 7 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ จำนวน 30 แผน คู่มือการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ จำนวน 30 กิจกรรมและแบบทดสอบเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ มีวิธีดำเนินการศึกษา ดังนี้ ทำการทดสอบเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก่อนจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ โดยใช้แบบทดสอบ
ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น ดำเนินการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จนครบ 30 กิจกรรมจึงทำการทดสอบหลังการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ โดยใช้แบบทดสอบเชิงปฏิบัติการทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ชุดเดียวกับก่อนการจัดกิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าสถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยและเปรียบเทียบ
ค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์จำแนกเป็นรายด้านและภาพรวม
ผลการศึกษาพบว่า
1.ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2
โรงเรียนบ้านห้วยเอียน ระหว่างการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์จำนวน 10 สัปดาห์
จำแนกเป็นรายด้านและภาพรวม ทั้ง 4 ทักษะได้แก่ การสังเกต การจำแนกประเภท
การสื่อความหมายและการลงความเห็น สัปดาห์ที่ 1-10 มีผลการพัฒนาที่สูงขึ้นซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน ข้อที่ 1
2. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2โดยจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ จำแนกเป็นรายด้านและภาพรวม หลังการจัดกิจกรรมสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ทุกทักษะกล่าวคือ หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ย 18.71 คิดเป็นร้อยละ 93.55 ก่อนจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ย 12.86 คิดเป็นร้อยละ 64.30 คะแนนความก้าวหน้าเฉลี่ย 5.85 คิดเป็นร้อยละ 29.25 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ในข้อ 2