ผู้ศึกษา : นางสุดาพร สอนแก้ว
ปีที่ศึกษา : 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ในแต่ละช่วงเวลาการจัดประสบการณ์จากการละเล่นพื้นบ้าน และเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์จากการละเล่นพื้นบ้าน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาล 1/1 อายุ 4 -5 ปี โรงเรียนบ้านดอน (ศรีเสริมกสิกร) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558
จำนวน 33 คน เป็นเด็กหญิงจำนวน 16 คน เด็กชายจำนวน 17 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีการเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แผนการจัดประสบการณ์จากการละเล่นพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 30 แผน
และแบบสังเกตพฤติกรรมทางสังคม จำนวน 6 ด้าน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t - test dependent Sample
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จากการจัดประสบการณ์จากการละเล่นพื้นบ้าน ผ่านไป 1-6 สัปดาห์ พฤติกรรมอยู่ในระดับพอใช้ (1.49, 1.60, 1.70, 1.94, 2.14, 2.29) ตามลำดับ เมื่อจัดประสบการณ์ผ่านไป 7-10 สัปดาห์ พฤติกรรม
เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับดี (2.52, 2.75, 2.88, 2.97) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรม
ทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในแต่ละสัปดาห์
2. ผลการเปรียบเทียบพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์จากการละเล่นพื้นบ้าน มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 1.40 และ 2.97 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบ ระหว่างคะแนนก่อนและหลังการจัดประสบการณ์จากการละเล่นพื้นบ้าน พบว่า พฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเป็นรายด้าน พบว่า พฤติกรรมทางสังคมทุกด้านหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์