ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง สถิติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 3
ผู้ศึกษา นางสาวภัทธิยา แสนจำสาร
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง สถิติ 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป 3) เพื่อศึกษาทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง สถิติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 4)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เน้นทักษะการแก้ปัญหาของโพลยา
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/12 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง สถิติ จำนวน 12 แผน แต่ละแผนใช้เวลาสอน 1 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้สะท้อนผลการปฏิบัติการ ได้แก่ แบบประเมินด้านทักษะ/กระบวนการ แบบประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ใบกิจกรรม แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบท้ายวงจร แบบสอบถามความพึงพอใจ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน เรื่อง สถิติ
การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรปฏิบัติการ 3 วงจร เมื่อดำเนินการครบทั้ง 3 วงจร แล้วใช้เครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ เก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลรายงานในลักษณะการบรรยายและหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า
1. กิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของโพลยา เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรม 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน โดยการทบทวนความรู้เดิม การเล่มเกม การถาม-ตอบเพื่อกระตุ้นกระบวนการคิด ขั้นที่ 2 ขั้นสอน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา ในการแก้สถานการณ์ปัญหา ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้น ดังนี้ (1) ขั้นไตร่ตรองรายบุคคล เป็นขั้นที่นักเรียนแต่ละคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาผ่านใบกิจกรรมที่ครูเตรียมไว้ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา ซึ่งมี 4 ขั้น คือ ขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นมองย้อนกลับ (2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย เป็นขั้นที่นักเรียนเข้ากลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันอภิปรายแนวทางในการแก้สถานการณ์ปัญหาของแต่ละคน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงกระบวนการการหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุด แล้วบันทึกลงในใบกิจกรรม และเตรียมพร้อมนำเสนอต่อชั้นเรียน (3) ขั้นไตร่ตรองระดับชั้นเรียน นักเรียนแต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนออกมานำเสนอวิธีการหาคำตอบของกลุ่มตนเอง เพื่อให้สมาชิกกลุ่มอื่นๆช่วยกันอภิปรายหรือเสนอแนะเพิ่มเติม (4) ขั้นสรุป ในขั้นนี้นักเรียนทุกคนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ และวิธีการแก้ปัญหา โดยรวบรวมจากการนำเสนอและการอภิปรายของเพื่อนร่วมชั้น และครูช่วยสรุปความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอด และหลักการที่ถูกต้องชัดเจน (5) ขั้นนำไปใช้ เป็นขั้นให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะจากสถานการณ์ปัญหาที่กำหนดให้เป็นรายบุคคล เพื่อเป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียน ขั้นที่ 3 ขั้นการวัดและประเมินผล เป็นขั้นประเมินทักษะความรู้ของนักเรียนจากการตรวจแบบฝึกทักษะ และประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน จากแบบประเมินด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 79.62 ของคะแนนเต็ม และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 88.57 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือมีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
3. นักเรียนมีความสามารถด้านทักษะการแก้ปัญหา โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 78.46 ของคะแนนเต็ม
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง สถิติ ของนักเรียนจำนวน 35 คน ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเท่ากับ 4.29 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.72