ชื่องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย นางรัตนาภรณ์ ปะหุสี
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) ศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and development)กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1โรงเรียนเนินสง่าวิทยา ภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2559 จำนวน 30คน ได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบทักษะการแก้ปัญหา แบบทดสอบทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ แบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test dependentและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1) รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นี้มีชื่อว่า “PASPSA Model” โดยมีองค์ประกอบดังนี้หลักการ วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ขั้นตอนการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และ ระบบสนับสนุนโดยขั้นตอนการเรียนรู้ มี 6 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นเชื่อมโยงปัญหาและระบุปัญหา (Connecting with the problem and Identifying the Issues : C) ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์ปัญหา ( Analyze problem : A) ขั้นที่ 3ขั้นค้นคว้าหาข้อมูลและตั้งสมมติฐาน ( Searching and hypothesizing : S ) ขั้นที่ 4 ขั้นดำเนินการแก้ปัญหา ( Proceed to solve the problem : P)ขั้นที่ 5 ขั้นสังเคราะห์ความรู้และสรุปผล (Synthesis of knowledge and Summarize : S) ขั้นที่ 6 ขั้นประเมินผลงาน( Assessing : A) โดยรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (CASPSA Model) ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.83/82.74 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2) หลังจากการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (CASPSA Model) นักเรียนมีทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ สูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) หลังจากการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (CASPSA Model) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อยู่ในระดับมาก