ชื่อเรื่อง รายงานการสอนซ่อมเสริมโดยใช้ชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์
เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง สำหรับนักเรียน
ชั้นนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง
จังหวัดนนทบุรี
ชื่อผู้รายงาน นายจำเนียร หงษ์คำมี
ปีที่ทำการศึกษา ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดการสอนซ่อมเสริม คณิตศาสตร์ เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบางบัวทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ที่กำลังศึกษารายวิชา ค23201 เสริมทักษะคณิตศาสตร์ 5 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 74 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบางบัวทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ที่กำลังศึกษารายวิชา ค23201 เสริมทักษะคณิตศาสตร์ 5 จำนวนนักเรียน 44 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนรายวิชา ค23201 เสริมทักษะคณิตศาสตร์ 5 เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง ต่ำกว่าเป้าหมายที่กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์กำหนดไว้ ร้อยละ 60
เครื่องมือที่ใช้ คือ ชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์ เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนาม ดีกรีสอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาประสิทธิภาพของชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์และ เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน สถิติพื้นฐานที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และเปรียบเทียบความก้าวหน้าของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติ t-test แบบ Dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพของชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์ เรื่อง การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่ากับ 77.45/76.21 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.51 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.12