บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การพัฒนาประเทศในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยจะเน้นให้ คน เป็นแกนกลางในการพัฒนา ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยมีการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญาความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (มาตรา 6) โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด การจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ (มาตรา 22) โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญาและบุคลิกภาพเป็นวัยที่เรียกว่า ช่วงพลังแห่งการเจริญเติบโตของชีวิต (สิริมา ภิญโญอนันตพงษ์, 2545 : 149) ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน หรือการปลูกฝังสิ่งที่ดีงามเหมาะสมให้กับเด็กจึงควรทำให้ดีที่สุดในวัยนี้เพราะประสบการณ์ที่เด็กจะได้รับจะเป็นการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตในอนาคตของเด็กตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กที่มีอายุในวัย 2 - 6 ปี จะมีพัฒนาการทางสติปัญญาในระดับขั้นความคิดก่อนเกิดความคิดรวบยอด (preconception thought)
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยต้องอาศัยประสบการณ์ตรง หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรม โดยผ่านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การฟัง การดม การมอง การสัมผัสและ การชิมรสโดยให้เด็กเป็นผู้ลงมือกระทำ กิจกรรมที่ปรากฏในตารางกิจกรรมประจำวัน ซึ่งได้แก่ กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์และเสรี กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากพัฒนาการของเด็กจะครบทุกด้าน มิใช่อยู่ในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แต่ละกิจกรรมมีการส่งเสริมทักษะและพัฒนาการแต่ละด้านแตกต่างกันไป ครูผู้สอนควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมทั้ง 6 กิจกรรมนี้ และเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการเล่นและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ได้พัฒนาการทุกด้าน รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กรู้จักการนำทักษะการสังเกต การจำแนก เปรียบเทียบ ทักษะการวัดและทักษะอื่น ๆ มาสอดแทรกและนำมาใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรลุตามมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่กำหนดไว้ในจุดหมายตามที่หลักสูตรปฐมวัยกำหนดไว้ (กรมวิชาการ, 2546 : 9)
วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตลอดชีวิตของทุกคนต่างมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญที่จะทำให้คนได้พัฒนาวิธีคิด เป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลาย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2550 : 1) การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ซึ่งเรียกว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์ได้โดยครูใช้ประสบการณ์การคิดและปฏิบัติ กุลยา ตันติผลาชีวะ (2547 : 172) จากการศึกษารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่าเด็กจะรับรู้และคิดถ่ายโยงเป็นทิศทางเดียวไม่ซับซ้อน ดังนั้นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยในการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์จึงแบ่งออกเป็น 4 ทักษะ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อสาร และทักษะการลงความเห็น นิวแมน (Neuman,1992 : 320 321) กล่าวว่าทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อสาร และทักษะการลงความเห็นเช่นกัน เด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 4-5 ปี มีลักษณะเฉพาะตัว คือ มีความเชื่อว่าทุกอย่างมีชีวิต (animism) มีความรู้สึก และเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกมีจุดมุ่งหมาย (purposivism) และชอบตั้งคำถาม โดยใช้คำว่า ทำไม นิตยา คชภักดี (2545 : 36) การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ การมอง การฟัง การดม การชิม และการสัมผัส นำไปเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก เป็นการกระตุ้น และตอบสนองความสนใจของเด็กด้วยการให้โอกาสเด็กสำรวจ ลงมือกระทำกิจกรรมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทำให้เกิดการรับรู้ความเข้าใจ และความคิดรวบยอดนำไปสู่การพัฒนาสติปัญญา (สิริมา ภิญโญอนันตพงษ์, 2548 : 74)
การเรียนวิทยาศาสตร์เริ่มได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย เด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์จากการเล่นและการทำงานตามที่เด็กสนใจ ได้ลงมือปฏิบัติจริงลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากการค้นพบด้วยตัวเอง การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเป็นการเรียน เพื่อสร้างพัฒนาการให้เด็กเต็มศักยภาพ วิธีการเรียนของเด็กมาจากประสบการณ์กิจกรรมการเรียนรู้ที่เด็กหยิบ จับ สัมผัส จากประสบการณ์ที่เด็กได้รับนี้ จะทำให้เด็กพัฒนาตนเองได้ตามวัยและเกิดการเรียนรู้ จากการสังเกต การคิดและเกิดความเข้าใจจากการกระทำกิจกรรมที่เรียน (กุลยา ตันติผลาชีวะ, 2547 : คำนำ) การสอนวิทยาศาสตร์เด็กปฐมวัยเป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วยการสังเกต การคิด การสนทนาเพื่อสื่อสารสิ่งที่เข้าใจ และการสะท้อนความกระตือรือร้น ความกระหายใคร่รู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ (ประสาท เนืองเฉลิม, 2546 : 23) เป็นการสอนข้อความรู้ซึ่งต่างจากการสอนให้รู้ ข้อความรู้ ตรงที่การสอนข้อความรู้ต้องการความสนใจการสังเกต การจำและการเรียกความจำจากความเข้าใจถ่ายโยงได้ไม่ใช่การท่องจำ(กุลยา ตันติผลาชีวะ, 2547 : 171) การนำวิธีการสอนทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนการสอนระดับปฐมวัยจะส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดอย่างเป็นระบบ และการศึกษาสิ่งต่าง ๆ ด้วยการนำทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้กระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลและเต็มศักยภาพ (ประสาท เนืองเฉลิม, 2546 : 24)
การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์การทดลองเป็นการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์อีกวิธีหนึ่งที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง เปิดโอกาสให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เข้าไปกระทำจริงกับสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่เป็นของจริง เด็กได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งการได้สังเกต การจำแนกประเภท การทดลอง การตั้งสมมติฐาน การได้สื่อสาร (ปรีดาวรรณ ยอดสุวรรณ, 2545 : 3) สอดคล้องกับ พันธ์ ทองชุมนุม (2547 : 62) ที่กล่าวว่า การจัดประสบการณ์แบบปฏิบัติทดลองจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการได้ รับประสบการณ์ตรง เด็กได้ค้นพบคำตอบด้วยตนเอง มีผลทำให้เกิดความคงทนของความรู้ เด็กจะได้เรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสหลายด้านโดยตรง ทั้งตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัส ทำให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ภพ เลาหไพบูลย์ (2546 : 171) ซึ่งสอดคล้องกับ วรวิทย์ วศินสรากร (2545 : 47) ที่กล่าวว่าวิธีสอนด้วยการทดลองจะช่วยเสริมสร้างและปลูกฝังให้เด็กเป็นคนมีเหตุผล ชอบค้นคว้าหาความจริง เด็กควรได้รับการกระตุ้นเซลสมองโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ หู ตา จมูก ลิ้น และผิวกาย ให้เด็กได้เห็นได้ดมกลิ่นได้ยินเสียง ได้ชิมรส และได้สัมผัส โดยให้เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของชนกพร ประทุมทอง (2549 : 161 - 187) กล่าวถึงการปฏิบัติการทดลองไว้ว่า หมายถึง การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำหรือปฏิบัติทดลองด้วยตนเอง เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรงและความรู้ใหม่ด้วยตนเอง เพราะการเรียนรู้นั้นเกิดจากการกระทำ (Learning by doing) ประสบการณ์เบื้องต้นของเด็กควรเป็นประสบการณ์ในสถานการณ์จริง ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการค้นพบนั้นจะเป็นความรู้ที่จดจำได้นาน
เด็กปฐมวัยเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยธรรมชาติ คือ มีความสนใจอยากรู้อยากเห็นและเข้าใจสิ่งแวดล้อม เด็กจะสามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นตัวรับรู้นอกจากนี้ ประสาท เนืองเฉลิม (2545 : 24) กล่าวว่า การจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กได้ใช้ทักษะการสังเกต การคิด การสนทนา การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ และแสดงออกถึงความกระตือรือร้น ความอยากรู้อยากเห็นการรู้จักสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่แวดล้อมรอบตัว ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อค้นพบสิ่งใหม่และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยควรฝึกได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการแสดงปริมาณ ทักษะการสื่อความหมาย ทักษะการลงความเห็น และทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างมิติกับเวลา สอดคล้องกับแนวคิดของนักการศึกษาเป็นทักษะเบื้องต้นที่ต้องใช้อยู่เสมอ และสอดคล้องกับ พัชรี ผลโยธิน (2546 : 24) ที่กล่าวไว้ว่า เด็กปฐมวัยเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้จากการสำรวจ การสังเกต การใช้ประสาทสัมผัส ทั้งห้าหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นและแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ต่อไปในอนาคต
โรงเรียนวัดป่าขวาง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่จัดการศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 ซึ่งได้เข้ารับการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาในปีการศึกษา 2556 เช่นเดียวกัน และผลการประเมินด้านผู้เรียนในระดับก่อนประถมศึกษา ปรากฏผลดังตารางที่ 1.1 ต่อไปนี้