ชื่อเรื่อง การพัฒนาหนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางสาวเดือนงาม นันทกมลวารี
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทาราม สำนักการศึกษา
เทศบาลเมืองชลบุรี
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ก่อนเรียน และหลังเรียนด้วยหนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทาราม ปีการศึกษา 2557 สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จำนวน 30 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ 6 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นแบบทดสอบแบบปรนัย จำนวน 20 ข้อ แบบ 3 ตัวเลือก ซึ่งมีค่าความยาก(P) ตั้งแต่ 0.47-.77 ค่าอำนาจจำแนก(B) ตั้งแต่ 0.27 - 0.67 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 และแบบสอบถามพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสือสามมิติ (pop-up) ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 15 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนก(rxy) ตั้งแต่ 0.27-0.67 มีค่าความเชื่อมั่น () ทั้งฉบับเท่ากับ 0.67 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t-test วิเคราะห์โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows และโปรแกรม Microsoft Excel ผลการวิจัยพบว่า
1. หนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่องการพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.07/84.83 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ E1/E2 = 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์การเรียนเรื่องการพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หลังการเรียนด้วยหนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สูงกว่าก่อนเรียนด้วยหนังสือสามมิติ (pop-up) การพับกระดาษเป็นของเล่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสือสามมิติ (pop-up) เรื่อง การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.93 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.24 และเมื่อพิจารณารายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากทุกข้อ เรียงตามคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรกได้แก่ นักเรียนชอบสีในหนังสือ นักเรียนมีความสุขที่ได้อ่านหนังสือ นักเรียนสนุกกับการเรียนวิชานี้
โดยสรุป หนังสือสามมิติ (pop-up) การพับกระดาษเป็นของเล่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาได้ค้นคว้า และจัดทำขึ้นมีประสิทธิภาพเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการพับกระดาษ และส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการในการทำงานอย่างเป็นระบบ