ชื่อเรื่อง : รูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา
ผู้วิจัย : นางสาวภรพิศ มธุรส
ปีที่วิจัย : 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง รูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และแนวทางการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา 3) เพื่อศึกษาผลการมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง จำนวน 290 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบประเมินรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา แบบสอบถามการมีส่วนร่วม ในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา และแบบประเมินรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่ามัธยฐาน (Median) ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquartile Range) ค่าเฉลี่ย (X) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD.)
ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัญหา และแนวทางการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา พบว่า
1.1 สภาพปัญหาโดยทั่วไปของการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วมเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น เกิดจากทัศนคติของผู้บริหารและครู เกิดจากลักษณะของความเป็นราชการของผู้บริหาร และครู เกิดจากสถานศึกษาขาดแนวความคิดที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกับชุมชน หรือเกิดจากผู้บริหารสถานศึกษาทำงานโดยยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก
1.2 การดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วมของสถานศึกษาต่างๆ ในปัจจุบัน พบว่า จากการที่รัฐได้มีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมในภาคส่วน ส่งผลให้สถานศึกษาต่างๆ ตอบสนองนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี บางสถานศึกษาก็ประสบความสำเร็จ บางสถานศึกษาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสถานศึกษาที่ไม่ประสบความสำเร็จอาจเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่า จะเป็นขนาดของสถานศึกษา ชุมชนโดยรอบสถานศึกษาไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร กรรมการสถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องการบริหารและการจัดการศึกษา รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนที่ยังเข้าใจว่า การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของครู ผู้ปกครอง และชุมชนนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพจึงไม่มีเวลาเข้ามาช่วยดูแลการกำหนดนโยบาย และร่วมตัดสินใจด้านการศึกษา
1.3 หลักการโดยทั่วไปของการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้คือ การให้ข้อมูลข่าวสาร การรับฟังความคิดเห็น การเกี่ยวข้อง ความร่วมมือ และการเสริมอำนาจ
1.4 องค์ประกอบหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม ได้แก่วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย กิจกรรมเป้าหมาย บุคคลหรือกลุ่มเป้าหมาย
1.5 บทบาท และหน้าที่ของสถานศึกษาในการบริหารแบบมีส่วนร่วม บุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้นำ หรือผู้บริหารสถานศึกษา เพราะถ้าหากว่าผู้บริหารไม่มีความต้องการที่จะให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมแล้ว ก็คงยากที่จะเกิดบรรยากาศการทำงานแบบประชาธิปไตย แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะเรียกร้องก็ตาม แต่ถ้าผู้บริหารมีบุคลิก และปรารถนาที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมแล้ว การมีส่วนร่วมในการบริหารย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
2. รูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา ที่สร้างขึ้นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเห็นว่ามีความเหมาะสม สามารถนำไปใช้ได้ โดยรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา ที่สร้างขึ้นประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม องค์ประกอบที่ 2 ขอบข่ายการบริหารงานวิชาการ องค์ประกอบที่ 3 การกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนร่วม และองค์ประกอบที่ 4 กระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม
3. ผลการมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา พบว่า ในภาพรวมคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา ด้านการมีส่วนร่วมกำกับติดตามและประเมินผล มากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก และต่ำสุดคือ ด้านการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา พบว่า ในภาพรวมคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีความคิดเห็นต่อรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีความคิดเห็นต่อรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ในงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา ด้านประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงาน มากที่สุด รองลงมาคือ ด้านประโยชน์ต่อโรงเรียน และต่ำสุดคือ ด้านความเป็นไปได้