ชื่อเรื่อง การพัฒนาเกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ผู้วิจัย นางสาวชมภู รักษ์คิด
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม
กองการศึกษาเทศบาลเมืองสุรินทร์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนาเกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) การวิจัยครั้งนี้มี 4 ขั้นตอนคือ 1) การวิจัย ( Research ) เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัย 2) พัฒนา (Development) เป็นการสร้างและหาประสิทธิภาพของเกมการศึกษา 3) การวิจัย ( Research) เป็นการทดลองใช้เกมการศึกษา 4) การพัฒนา ( Development ) เป็นการประเมินและปรับปรุงแก้ไขเกมการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพัฒนาการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัย (2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของเกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านสติปัญญาให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (3) เพื่อทดลองใช้เกมการศึกษา (4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขเกมการศึกษา เกี่ยวกับความพร้อมทางด้านสติปัญญาและศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อเกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านสติปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัย ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ มีจำนวน 6 ห้องเรียน 215 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 โรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวน 1 ห้องเรียน 32 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 257 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) เกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านสติปัญญา จำนวน 17 เกม ที่ผ่านการตรวจหาค่าดัชนีความสอดคล้องจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 1.00 2) แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ครูผู้สอนปฐมวัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเกมการศึกษา 3) แบบทดสอบประเมินความพร้อมทางด้านสติปัญญา แบบทดสอบมี จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วยแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยเกมการศึกษา จำนวน 30 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค้าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D. ) ค่า t-test แบบ dependent 4) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อเกมการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อเกมการศึกษา โดยกำหนดตัวเลือกภาพหน้า 3 แบบ 1. หน้ายิ้ม เห็นด้วยมาก 2. หน้าเฉย เห็นด้วยปลานกลาง 3. หน้าบึ้ง เห็นด้วยน้อย จำนวน 10 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าทางสถิติร้อยละ (%) ค่า , S.D. แล้วนำเสนอแบบพรรณนาความ แบบแผนการวิจัยเป็นแบบ Pre Experimental One Group Pretest Posttest Design
ผลการวิจัย พบว่า
จากการวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า นักเรียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการให้มีการพัฒนาเกมการศึกษา โดยให้มีรูปที่เหมาะสม วิธีการเล่นให้มีหลากหลายวิธี เวลาในการปฏิบัติกิจกรรมที่นำมาพัฒนาเกมการศึกษาและเกมการศึกษายังสอดคล้องกับหน่วยการเรียนการสอนหลักสูตร โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยเรื่องที่นำมาพัฒนาเกมการศึกษามีเนื้อหาจากความต้องการและความสนใจของนักเรียนเป็นสำคัญ ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนโดยยึดนักเรียนเป็นสำคัญและความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. ผลการพัฒนาและหาค่าประสิทธิภาพเกมการศึกษาด้านสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า เกมการศึกษาที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย คำนำ วัตถุประสงค์ คู่มือครู ( แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เฉลยแบบทดสอบหลังเรียน) , คู่มือนักเรียน (แบบทดสอบหลังเรียน) โดยเกมการศึกษาที่พัฒนาขึ้นมีจำนวน 17 เกม คือ 1) เกมซ่อนรูปภาพไว้ในภาพหลัก 2) เกมคชรักษ์เกมลอตโต 3) เกมจับคู่โชว์แบบเขาวงกต 4) เกมดูภาพพจน์สมมาตรกัน 5) เกมสานฝันเรียงลำดับภาพต่อเนื่อง 6) เกมลือเลื่องจับคู่ภาพคนกับเงา 7) เกม เล่าขานการเจริญเติบโตของกล้วย 8) เกมดอกไม้สวยที่เหมือนกัน 9) เกมตารางสัมพันธ์รูปร่างและสี 10) เกมดูดีดีเกมภาพตัดต่อ 11) เกมสานสัมพันธ์มั่นเหมาะอุปมา อุปไมย 12) เกมเรากับใครที่แยกส่วน 13) เกมรวมก๊วนบวก 1-10 14) เกมจัดมาซิหมวดหมู่ผลไม้ 15) เกมจับคู่ไว้แบบอนุกรม 16) เกมชื่นชมเกมโดมิโน 17) โอ้โฮภาพซ่อนเรขาคณิต ซึ่งเกมการศึกษามีค่าประสิทธิภาพรายเดี่ยว ( Individual Tryout ) เท่ากับ 73.59 / 72.22 ค่าประสิทธิภาพแบบกลุ่มเล็ก ( Small Group Tryout ) เท่ากับ 76.30 / 75.19 และเกมการศึกษามีค่าประสิทธิภาพแบบภาคสนาม ( Field Tryout ) 81.79 / 80.11 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1
3. ผลการทดลองใช้เกมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้ทดลองจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาประกอบการสอนด้วยตนเองกับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 โรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวน 32 คน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 เริ่มการทดลองตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2558 รวมระยะเวลา 17 สัปดาห์ จำนวน 17 ครั้ง พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ กระตือรือร้น ต้องการเรียนเกมการศึกษาที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยให้ความร่วมมือและตั้งใจปฏิบัติกิจกรรม ทั้งในห้องเรียนนอกห้องเรียนซึ่งมีทั้งปฏิบัติกิจกรรมเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มอย่างดี จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน พบว่า นักเรียนรู้จักทำงานเป็นกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น ส่วนการปรับปรุงและแก้ไขเกมการศึกษาให้สมบูรณ์นั้นมีการปรับปรุงเกมการศึกษาทุกเกม โดยการปรับภาพให้สวยเหมือนจริงปรับเนื้อหาการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนและปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับเวลา
4. ผลการประเมินและปรับปรุงแก้ไขเกมการศึกษาพบว่าคะแนนความพร้อมทางด้านสติปัญญาที่เรียนด้วยเกมการศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อเกมการศึกษาด้านการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาประโยชน์โดยภาพรวมเห็นด้วยในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านนักเรียนเห็นด้วยในระดับมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือนักเรียนมีความคิดเห็นว่าเกมการศึกษา มีรูปแบบที่น่าสนใจช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้