ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน โดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การ
บริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ผู้ศึกษา เทวา ตั้งวานิชกพงษ์
ปีที่ทำการศึกษา พ.ศ. 2559
สถานที่ศึกษา โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น 2) พัฒนารูปแบบการนิเทศการสอนโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่าน ไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น 3) ศึกษาผลของการใช้รูปแบบการนิเทศการสอนโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และ 4) ประเมินและปรับปรุงการใช้รูปแบบการนิเทศการสอนโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ดำเนินการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลพื้นฐาน กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยคือ ครูภาษาไทย จำนวน 85 คน ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 45 คน ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน (ร่าง) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ครูภาษาไทย จำนวน 2 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 20 คน ระยะที่ 3 การนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ครูภาษาไทยที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 16 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 170 คน ระยะที่ 4 การประเมินผลรูปแบบการนิเทศการสอน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ครูภาษาไทยที่สอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 16 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 170 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบวิเคราะห์เนื้อหา 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบทดสอบ 4) แบบสอบถาม 5) แบบประเมินและประเด็นการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (X ̅) ค่าเฉลี่ยร้อยละ (X ̅%) ค่าเบี่ยงแบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าที (t test dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นำเสนอข้อมูลของการวิจัย ในลักษณะพรรณนาความ และการพรรณนาความประกอบตาราง
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เพื่อการพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน โดยใช้เครือข่าย
การเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดขอนแก่น ด้วยวิธีการเชิงปริมาณพบว่า นโยบายของสถานศึกษา บรรยากาศขององค์กร นวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย และมีความต้องการอยู่ในระดับมาก ส่วนสภาพที่เป็นปัญหา ได้แก่ บุคลากรขาดความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และโรงเรียนขาดการกำกับติดตามนิเทศ อย่างเป็นระบบ
2. รูปแบบการนิเทศการสอน ใช้ชื่อว่า เทวาโมเดล (THEWA coaching Model) ซึ่งมี กระบวนการนิเทศ 5 ขั้น คือ 1) การฝึกอบรม และวางแผนเป็นทีมสร้างวิสัยทัศน์และผู้นำ (Training and Team planning : T) 2) การทุ่มเททำงานเต็มที่และเสริมพลังการทำงานเป็นทีมร่วมกัน (Hearting and Team empowering : H) 3) การกระตุ้นส่งเสริมสู่การศึกษาบทเรียนและการนิเทศ (Encouraging to Lesson study and Supervising : E) 4) การปฏิบัติการทำงานนิเทศติดตามและสะท้อนผล (Working out , Supervising and Reflecting :W) และ 5) การประเมินผลและปรับปรุงนำไปใช้ (Assessing and Implementing : A)
3. ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน พบว่า รูปแบบการนิเทศการสอนมีประสิทธิภาพ และผลจากการนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้ในโรงเรียน พบว่า ภายหลังการใช้รูปแบบการนิเทศการสอน ครูผู้สอนมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศ โดยมีร้อยละของคะแนนเฉลี่ยทักษะด้านจัดการเรียนการสอนของครูเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หลังการใช้รูปแบบการนิเทศการสอน อยู่ในระดับสูงมาก (X ̅ = 16.47, X ̅% = 82.35) สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศการสอน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ (X ̅ = 9.00, X ̅% = 45.00) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านและการเขียน ของนักเรียนก่อนและหลังการเรียน โดยใช้รูปแบบการนิเทศการสอน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศการสอน โดยใช้เครือข่าย การเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการสอนของครูภาษาไทย อยู่ในระดับมากที่สุด