ผลงานทางวิชาการ
เรื่อง การบริหารจัดการความรู้ของโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร
ผู้วิจัย
นางสาวเต็มดวง พรหมรัตน์ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการบริหารจัดการความรู้ของโรงเรียน ประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการความรู้ของโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยประชากรในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2559 จำนวน 78 คน การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการสังเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
ระดับการบริหารจัดการความรู้ของโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือด้านการแบ่งปันความรู้ รองลงมาคือ ด้านวิสัยทัศน์ทางความรู้และด้านการสร้างคลังความรู้ โดยมีผลการบริหารจัดการความรู้รายด้านดังนี้
1.1 ด้านวิสัยทัศน์ทางความรู้
พบว่ามีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีการส่งเสริมบรรยากาศแห่งการจัดการความรู้ การผลิตคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการปฏิบัติงานในโรงเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียนไว้อย่างชัดเจน สั้นและกระชับ สามารถกระตุ้นให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนมุ่งปฏิบัติงานให้บรรลุ ตามวัตถุประสงค์
1.2 ด้านการแบ่งปันความรู้
พบว่ามีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน มีอิสระในการแบ่งปันความรู้กับเครือข่ายความรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน มีการแบ่งปันความรู้โดยผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต(internet)ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนและผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแบ่งปันความรู้กับเพื่อนครู ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
1.3 ด้านการสร้างคลังความรู้
พบว่า มีข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือมีการจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน สามารถจัดเก็บและใช้งานได้ง่าย ตลอดเวลา ทันกับความต้องการใช้งาน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีการส่งเสริมให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน สร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งจัดเก็บรวบรวมประมวลองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ
2.ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการความรู้ ของโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สำนักงานเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มีดังนี้
1.ด้านวิสัยทัศน์ทางความรู้ ได้แก่ ควรมีการส่งเสริมให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค และกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียน ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการการจัดการความรู้ของโรงเรียน เป็นคณะทำงาน วางแผนงาน ดำเนินงานและนิเทศ กำกับ ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ควรจัดสภาพพื้นที่ของโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน ส่งเสริมให้ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาโรงเรียน และสร้างบรรยากาศของโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
2.ด้านการแบ่งปันความรู้ ได้แก่ โรงเรียนส่งเสริมการจัดนิทรรศการทางวิชาการ เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ โดยจัดนิทรรศการวิชาการภายในโรงเรียนภาคเรียนละ 1 ครั้งและร่วมจัดนิทรรศการในกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน โรงเรียนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวิทยากรพิเศษ มาบูรณาการการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรได้เข้าถึงความรู้จากการส่งเข้ารับการฝึกอบรม สัมมนาและศึกษาดูงาน โดยเข้าร่วมการอบรมสัมมนากับหน่วยงานสังกัดอื่นๆ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมเป็นคณะทำงานและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมโครงการต่างๆ ของโรงเรียน มีการสลับการทำงานเช่น สลับสายชั้นที่ทำการสอน สลับโครงการที่รับผิดชอบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้บุคลากรเข้าถึงความรู้ได้อย่างง่ายๆ เช่น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
3.ด้านการสร้างคลังความรู้ ได้แก่ ส่งเสริมให้ครูศึกษา ค้นคว้าเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆมาพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน และส่งเสริมให้เข้าประกวดแข่งขันทักษะและผลงานในด้านต่างๆ ส่งเสริมทั้งครูและนักเรียนทำแฟ้มสะสมผลงานที่สำคัญและภาคภูมิใจเก็บไว้เป็นคลังความรู้ของตนเอง
ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นงานต่างๆ เพื่อมาพัฒนาตนเอง ผู้บริหารสถานศึกษาควรติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียนให้คณะครูและบุคลากรใช้ค้นคว้าและหาความรู้อย่างเต็มที่ ควรส่งเสริมให้ครูใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอผลงานและถ่ายทอดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูแสวงหาความรู้จากภายในและภายนอกโรงเรียนที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนางานอย่างสม่ำเสมอ โรงเรียนต้องพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ